ไขข้อสงสัย | จอแท้-จอเทียม คืออะไร?

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน เราเชื่อว่าผู้อ่านน่าจะเคยได้ยินเรื่องของ “จอแท้ จอเทียม” กันมาบ้างแล้ว แต่หลายท่านอาจจะยังไม่เข้าใจความหมายของคำนี้ ใครเป็นคนบัญญัติ แล้วความหมายของสองคำนี้คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะมาอธิบายให้ทุกท่านได้เข้าใจกันนะครับ

นิยามจอแท้ และจอเทียม

“จอแท้” ในความหมายของคนทั่วไปที่เราเคยได้ยินกันมานานมากแล้ว จอแท้ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจจะหมายถึง จอแบบเดิมที่ติดมากับเครื่อง เป็นจอเกรดเดียวกับเครื่องที่ออกจากโรงงาน หรือเป็นจอที่ออกจากศูนย์ซ่อม ศูนย์บริการโดยตรง โดยที่ “จอเทียม” นั้นก็ถูกตีความหมายไปในอีกทางนึง คือจอที่มีคุณภาพต่ำกว่า ไม่ใช่จอแบบเดียวจากโรงงาน ไม่ใช่จอเกรดเดียวกับของศูนย์ซ่อม หรือของศูนย์บริการของแบรนด์โดยตรง

ยกตัวอย่างเหตุการณ์เช่น สมมุติจอมือถือของเราเสีย หรือแตกขึ้นมา แล้วเราเอาเครื่องไปเข้าร้านซ่อมมือถือทั่วไป ที่ไม่ใช่ศูนย์ซ่อม หรือศูนย์บริการของแบรนด์โดยตรง มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะได้จอเกรดต่ำกว่าจอของเดิม แต่แลกมาด้วยราคาที่ถูกกว่าของที่ศูนย์บริการพอสมควร (บางเจ้าอาจราคาถูกกว่าสองเท่าเลยด้วยซ้ำ)

ข้อสังเกตุสำหรับ “จอเทียม” หรือจอที่เกรดต่ำกว่าคือ หน้าจออาจจะมีระดับความสว่างที่น้อยกว่า สีสันไม่ดีเท่า “จอแท้” หน้าจอเสื่อมสภาพได้ง่ายกว่า และบางครั้งอาจจะได้ของแถมเป็นพวกจุดบอด Dead Pixel หรือตำหนิต่าง ๆ มาด้วย

ต้องเข้าใจไปถึงกระบวนการผลิตหน้าจอของโรงงานก่อนว่า การผลิตชิ้นส่วนหน้าจอนั้น เขาจะผลิตหน้าจอออกมาทีเดียวเป็นชิ้นใหญ่แล้วนำมาตัดออกตามขนาด โดยในกระบวนการนี้จะต้องมีการคัดเกรด และคุณภาพของชิ้นส่วนหน้าจอ ส่วนไหนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ก็จะถูกแยกออกมา ส่วนไหนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คุณภาพไม่ถึงที่ผู้ว่าจ้างกำหนดก็จะถูกคัดออก ซึ่งจอเทียมที่เราพูดถึงกันนั้น คือจอเกรดเหล่านี้ที่ถูกคัดแยกออกมา หรือจำแนกประเภทอย่างง่ายคือ จอเกรด A+, A- หรือ B เป็นต้น

เพราะว่ามันคือชิ้นส่วนจอที่ผลิตมาพร้อมกัน แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ หรือ “ตก QC” จึงไม่อาจเรียกจอเหล่านี้ได้ว่าเป็น “จอเทียม” ได้เสมอไป บ้างก็ถูกตัดสต็อกออกมาขายเป็นล็อตสำหรับเกรดงานซ่อมในราคาที่ถูกลง ซึ่งบางครั้งจอเหล่านี้เราอาจสามารถหาสั่งซื้อได้ตามเว็บช็อปปิ้งออนไลน์ได้ด้วยราคาที่ค่อนข้างถูกเลยด้วยซ้ำ (ขึ้นอยู่กับเกรด และคุณภาพ) แต่ในความเป็นจริง “จอเทียม” ที่คนส่วนใหญ่ใช้เรียกกันนั้น ไม่มีจริงครับ เราไม่สามารถเรียกจอเกรดเหล่านั้นว่าจอเทียมได้ เพราะคำว่า “เทียม” มันหมายถึง “ของปลอม”

Compatible list

ชิ้นส่วนอะไหล่ในหนึ่งอย่างนั้น อาจจะมีการทำพาร์ทอะไหล่ออกมาถึง 2-3 พาร์ท ขั้นต่ำ โดยใช้เป็นรหัสตัวหนังสือและตัวเลข เพื่อระบุถึงชิ้นส่วนนั้น ๆ อาจรวมไปถึงวันเดือนปี และล็อตการผลิตอีกด้วย เช่น KKBP051-A1, KKBP051-A2, KKBP051-A3 โดยที่มันคืออะไหล่ตัวเดียวกัน กระบวนการผลิตเดียวกัน และมีคุณสมบัติเหมือนกันแทบจะทุกประการ เราจะเรียกว่า “Compatible list”

เราเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับลูกค้าที่ ถูกร้านซ่อมคอมบนห้างหลอกเปลี่ยนจอ TN คุณภาพต่ำมาให้ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นคำนิยามของ “จอเทียม” ได้ดีที่สุด เพราะมันคือการถูกหลอกโดยการนำจอคนละประเภทกับของเดิมนำมาใส่ให้ ไม่ได้ใกล้เคียงคำว่า “Compatible list” เลยด้วยซ้ำ

ย้อนกลับมาเข้าเรื่องของ “หน้าจอโน้ตบุ๊ก” ที่ผู้เขียนเอง ที่เป็นผู้ให้บริการเปลี่ยนจอโน้ตบุ๊กเป็นหลักด้วย มักเจอคำถามจากลูกค้าเข้ามาเสมอว่า จอของเราที่จำหน่ายนั้น เป็น “จอแท้” หรือ “จอเทียม” เราก็จะอธิบายว่า จอที่เราจำหน่ายนั้นเรียกว่าเป็น “Compatible list” เป็นโมเดลที่สามารถใส่กันได้ โดยในสินค้าบางตัวของเรานั้น ต้องเรียกว่าเป็นจอเกรดที่สูงกว่า “จอแท้” เสียอีก (ตามคำนิยามของผู้เรียก) เพราะมันไม่ใช่จอแบบเดิมที่ออกจากโรงงาน หรือของศูนย์บริการ และไม่ใช่จอเกรดต่ำกว่าของเดิม

ข้อดีของโน้ตบุ๊กที่ต่างจากจอมือถือ จอมอนิเตอร์ หรือจอทีวี นั่นก็คือ อะไหล่หน้าจอโน้ตบุ๊กที่ผลิตมานั้น ส่วนใหญ่จะเป็น “Compatible list” ด้วยกันทั้งสิ้น เช่น ในโน้ตบุ๊กหนึ่งเครื่องนั้น จะสามารถใส่กับจอต่างรหัสโมเดล ต่างยี่ห้อกันได้มากถึง 20 รุ่นด้วยกัน เพราะรูปทรง สัดส่วน และพอร์ตเชื่อมต่อของจอโน้ตบุ๊กจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันแทบทั้งหมด เรียกได้ว่าจะหยิบจับอะไรมาใส่กันก็แทบจะใส่กันได้ทั้งหมดเลย

ทาง RIPS COMPS จึงนิยามการเปลี่ยนจอโน้ตบุ๊กว่า “เป็นการอัพเกรดหน้าจอ” เพราะมันมีเรื่องของค่าความกว้างของสี ค่าความสว่าง ค่าคอนทราส ค่าความเที่ยงตรงของสี ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นตัวนิยามคุณภาพของสินค้าของเราโดยทั้งสิ้น และมันมีความสำคัญมากกว่าคำว่า “จอแท้” เสียอีก ในบางครั้งต้องยอมรับว่า ผู้เขียนเองก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็น “จอแท้” ได้ และอยากเลิกใช้กับคำนี้กับเฉพาะจอโน้ตบุ๊กได้แล้ว เพราะถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ก็น่าจะพอเข้าใจเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่ผู้เขียนพยามอธิบายมาข้างต้นแล้วนะครับ