ก่อนเราจะมาพูดเรื่องของปัญหาแสงรั่วนั้น ให้เรานึกภาพตามก่อนว่า ตัวหน้าจอ LCD ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้นั้น มันคือการประกอบกันของชิ้นส่วนหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นแผงไฟ LED ผลึกเหลวคริสตัล (Liquid Crystal) และเลเยอร์ของฟิล์มโพลาไรส์หลายชั้นประกอบเข้าด้วยกัน ทีนี้ตามธรรมชาติของจอ LCD นั้น ลำพังเม็ดพิกเซลมันไม่สามารถเปร่งแสงได้ด้วยตัวเอง จำเป็นจะต้องใช้ไฟแบ็คไลท์จากด้านหลังส่องผ่านฟิล์มโพลาไรส์ และให้ผลึกเหลวคริสตัลบิดตัวเพื่อเปิด-ปิดรับแสงจนเกิดเป็นภาพสีสันให้ตาเราเห็นนั่นเอง ทีนี้ข้อจำกัดของจอ LCD คือการที่มันจำเป็นจะต้องพึ่งพาไฟแบ็คไลท์ในการส่องแสงสว่าง ทำให้สีดำของจอ LCD นั้นไม่สามารถที่จะดำสนิทได้ หรือเวลาที่เปิดภาพที่เป็นสีดำในขณะที่ห้องมีแสงน้อยหรือค่อนข้างมืด จะทำให้เราเห็นสีดำที่ไม่สนิทแบบนี้ ออกเทา ๆ บ้าง ขึ้นอยู่คุณภาพและชนิดของจอว่าจะสามารถกดระดับของสีดำให้ดำลึกได้กว่านี้ที่ระดับใด

ทีนี้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่พบคือ เวลาที่เราเปิดสีดำในห้องที่ค่อนข้างมืดนั้น นอกจากสีดำจะไม่ได้ดำสนิทแล้ว เราจะสังเกตุเห็นเป็นแสงวาบเป็นดวง ๆ ขึ้นมาตามขอบ หรือเป็นแสงลอดที่ตามขอบจอ ก็อาจทำให้ตกใจ และคิดว่าตัวจอมีปัญหาหรือเปล่า จากภาพตัวอย่างที่เราถ่ายมาให้ดู มาลองดูกันว่ามันคืออะไรบ้าง
1. Glow / IPS Glow หรือแสงเป็นดวง ๆ สีเหลืองที่เราเห็นในภาพนั้น จะเป็นเพียงลักษณะของการเปร่งแสงของผลึกเหลว ที่จะเปลี่ยนไปมาตามองศาการมอง หรือระดับสายตาของเรา (ขึ้นอยู่กับขนาดหน้าจอ) ยิ่งเรามองหน้าจอในระยะที่พอดี และอยู่ตรงกลางของจอมากที่สุด แสง Glow ตัวนี้ก็จะยิ่งน้อยลง ในทางกลับกัน หากมองเอียง ๆ ที่ฝั่งใดฝั่งนึงของตัวจอ แสงนี้ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น สำหรับพาเนล IPS นั้น จุดนี้ไม่ถือว่าเป็นปัญหาครับ และไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะมันคือธรรมชาติของจอ IPS นั่นเอง
2. Bleeding หรือ Backlight Bleeding (BLB) จะสังเกตุได้ว่าที่ตัวขอบจอนั้น จะเป็นลำแสงที่พุ่งขึ้นมา สีขาวบ้าง สีเหลืองบ้าง แต่ส่วนมากจะเกิดเฉพาะบริเวณขอบจอเท่านั้น ทาง rtings.com ได้อธิบายไว้ว่า BLB นี้อาจเกิดได้จาก
- 2.1 ปัญหาในการผลิต คุณภาพของหลอดไฟแบ็คไลท์ที่สว่างไม่เท่ากัน รวมถึงคุณภาพในการผลิตที่แย่ด้วย
- 2.2 ปัญหาจากขนส่ง การกระแทก ที่อาจทำให้ชั้นเลเยอร์บางจุดมีความเสียหาย ทำให้ตัวพาเนลไม่สามารถเก็บแสงได้ 100% (อันนี้เราเคยทดสอบแล้ว ยืนยันว่าตัวพาเนลที่ได้รับความเสีย ส่งผลให้ปัญหาแสงรั่วแย่ลงกว่าเดิม)

และคำถามที่เรามักได้ยินบ่อย ๆ ก็คือ “พี่คร้าบ จอแสงรั่วแบบนี้มันปกติไหม?“ – ถือว่าปกติครับ แต่เราจะได้จอที่แสงรั่วมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับดวงล้วน ๆ แต่ทั้งนี้ถ้าหากยอมรับได้ คำถามที่น่าคิดตามก็คือ ในชีวิตประจำวันของการใช้งานนั้น เราจะมานั่งเปิดภาพสีดำทั่วทั้งจอ และอยู่ในห้องตลอดเวลาแบบนี้สักแค่ไหนกัน? ต่อให้คุณเล่นเกมหรือดูหนังในห้องมืด โอกาสน้อยมากที่จะได้เห็นสีดำทั่วทั้งจอแบบนี้ แล้วต่อให้เจอฉากที่มืดจริง คุณก็คงไม่ได้เร่งแสงสว่างจนสูงสุดอยู่แล้ว เพราะมันคงจะปวดตามาก ๆ แสงรั่วนี้จะเห็นมากหรือน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับระดับของแสงสว่างที่คุณเปิดเช่นกัน
“แล้วถ้าเจอแสงรั่วแบบนี้ ควรส่งเคลมไหม?” – คำถามนี้เราตอบได้ยาก เพราะความพึงพอใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน หากคุณเข้าใจถึงธรรมชาติของจอชนิดนี้แล้ว ไม่ว่าจะส่งเคลมไปมากี่รอบ คุณก็ยังต้องพบเจอกับปัญหานี้อยู่ดี มันอยู่ที่ว่าไอ้ระดับความรั่วของแสงนั้น มันรั่วมากเกินไปหรือเปล่า? มันอยู่ในเกณฑ์ที่คุณรับได้หรือไม่ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละท่านนะครับ
ปล. ภาพถ่ายจากจอทีวีของ LG พาเนล IPS ที่ใช้การเร่งแสงสว่างสูงสุด และปิด Local Dimming ที่ซึ่งในชีวิตประจำวันแทบไม่เคยเห็นแสงรั่วแบบที่ถ่ายมานี้เลยครับ และถ้าเมื่อไหร่ที่จอ Monitor / Notebook สามารถทำ LD ได้ ผู้คนก็จะแทบไม่สังเกตุเห็นแสงรั่วพวกนี้เลย
Laptop & Display Calibration / Writer / Owner และทำทุกสิ่งอย่างในนาม RIPS COMP