หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของหน้าจอภาพแบบ OLED กันมาสักพักแล้ว ที่มันมีจุดเด่นในเรื่องของความสามารถเปล่งแสงและดับแสงได้ในแต่ละพิกเซลของมันเอง สีดำจะเป็นสีดำที่ดำสนิทเพราะตัวพิกเซลมันใช้การดับแสงที่จุด ๆ นั้น ซึ่งทำให้เราสามารถมองเห็นคอนทราที่ยอดเยี่ยมมาก เหมาะสำหรับคนที่ชอบใช้เสพคอนเทนต์ ดูหนัง เล่นเกม ก็จะให้ภาพที่ดูคมชัดมากกว่าหน้าจอภาพแบบ IPS LCD ที่ยังต้องพึ่งหลอดไฟในการช่วยส่องแสงสว่างจากทางด้านหลังอยู่ ทำให้เราเห็นสีดำที่ออกฟุ้ง ๆ ดูดำไม่สนิท รวมถึงเรื่องของแสงรั่วตามขอบอีกด้วย

(บทความนี้จะเป็นการกล่าวถึงหน้าจอของจอมอนิเตอร์ และจอโน้ตบุ๊กเท่านั้น)
OLED นั้น แม้จะฟังแล้วดูเป็นเทคโนโลยีจอภาพที่ทุกคนน่าจะชื่นชอบและติดใจความสวยงามและคอนทราสของมัน แต่มันก็อาจจะยังไม่ใช่เทคโนโลยีจอภาพที่เหมาะกับทุกคนนัก โดยเรายกตัวอย่างออกเป็น 2 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. OLED นั้นยังไม่สามารถแก้ไขในเรื่องของ Burn-In ได้ หรือการที่พิกเซลในแต่ละจุดของมันจะเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานได้รวดเร็วกว่าหน้าจอแบบ LCD โดยอาการ Burn-In นั้น จะเป็นลักษณะของภาพที่แช่ค้างไว้อยู่บนหน้าจอ ไม่จางหายไป และจะอยู่ถาวรบนหน้าจอแบบนั้นไปตลอด อาการจะเกิดขึ้นได้เร็วมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานว่าบนหน้าจอมีหน้าต่างหรือ UI อะไร ที่จะต้องแช่ภาพค้างไว้ตลอดการใช้งานหรือไม่ เช่น การเล่นเว็บบราวเซอร์ หรือการใช้แอปที่จะต้องมีแถบเครื่องมือค้างอยู่นิ่งตลอด สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้พิกเซลเสื่อมสภาพได้โดยง่าย โดยเฉพาะจอมอนิเตอร์หรือจอโน้ตบุ๊กที่อาจจะเกิดขึ้นง่ายมากกว่าพวกจอมือถือหรือจอทีวี แม้ช่วงหลัง ๆ ผู้ผลิตหลายเจ้าอาจจะเริ่มมีการเพิ่มการรับประกันกรณีหน้าจอ Burn-In หรือหาวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดขึ้นให้น้อยลง แต่ก็เป็นเพียงแค่การชะลอเท่านั้น และไม่ได้มีอายุที่ยืนยาวนานเหมือนจอ LCD อย่างแน่นอนครับ
2. ลักษณะ Sub Pixel ของจอ OLED ที่ใช้บนจอมอนิเตอร์หรือจอโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบัน ไม่ได้มีการวางเรียงเม็ดสีเป็นแถบตรงเหมือนกับจอ LCD IPS (ดูจากภาพตัวอย่าง) ทำให้มันเกิดช่องว่างระหว่างเม็ดพิกเซลที่เรียงต่อกัน รวมถึงความละเอียดหรือความหนาแน่นของพิกเซลที่ค่อนข้างน้อย (FHD/QHD) ทำให้ตัวหนังสือตัวเล็ก ๆ ที่เราเห็นบนหน้าจอนั้นไม่คมชัด โดยเฉพาะส่วนขอบโค้งของตัวหนังสือที่จะสังเกตุเห็นได้ว่าเป็นขอบรุ้ง ๆ ไม่ได้เป็นสีดำสนิทอย่างที่ควรจะเป็น OLED จึงอาจจะไม่เหมาะกับคนที่จำเป็นจะต้องใช้หน้าจอในการอ่านตัวหนังสือมากเป็นพิเศษ เพราะยิ่งตัวหนังสือที่แสดงบนหน้าจอมีตัวที่เล็กมาก นั่นหมายถึง ความคมชัดก็จะหายไป (บนความละเอียดที่เท่ากันแล้ว จอ OLED ก็ยังเทียบเรื่องความคมของตัวหนังสือไม่ได้)


รูปประกอบบทความ: Monitors Unboxed
Laptop & Display Calibration / Writer / Owner และทำทุกสิ่งอย่างในนาม RIPS COMP