เกร็ดความรู้ และวิธีการดูสเปคหน้าจอ Notebook ฉบับเบื้องต้น

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน เราเห็นหลายท่านที่กำลังตัดสินใจจะซื้อโน้ตบุ๊กเครื่องใหม่มาไว้ใช้สำหรับทำงาน เรียน เล่นเกม หรือใช้ทั่วไป บางท่านอาจจะพอดูสเปคเครื่องคร่าว ๆ เป็นมาบ้างแล้ว แต่สำหรับสเปคหน้าจอนั้น ทางผู้ผลิตและผู้จำหน่ายกลับให้ข้อมูลมาน้อยมาก ทำให้เราจำเป็นจะต้องหาอ่านรีวิวจากต่างประเทศก่อน โดยสำหรับในบทความนี้เราจะมาแนะนำวิธีการอ่านสเปคหน้าจอ Notebook ฉบับเบื้องต้น เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจ สามารถอ่านสเปคหน้าจอเป็น และรู้ข้อจำกัดของหน้าจอในรุ่นนั้น ๆ ก่อนเริ่มทำการตัดสินใจซื้อนะครับ

ชนิดของหน้าจอที่ใช้

เทคโนโลยีจอภาพนั้นมีหลากหลาย แต่ที่เห็นในโน้ตบุ๊กปัจจุบันจะมีเพียงแค่พาเนล TN (Twisted Nematic) และพาเนล IPS (In-plane Switching) ซึ่งเทคโนโลยีพาเนลจอเหล่านี้นั้นจะเป็นหน้าจอแบบ LCD ทั้งหมด โดยพาเนลแต่ละชนิดจะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้ (สรุปอย่างง่าย)

TN (Twisted Nematic) เทคโนโลยีเก่าและต้นทุนต่ำ ที่มักจะยังคงเห็นได้อยู่ในโน้ตบุ๊กราคาเริ่มต้น <1-2 หมื่นบาท ถ้าในแง่ของผู้ใช้งานเรามองว่ามันไม่ได้มีข้อดีอะไรเลย (เพราะในปัจจุบันจอพาเนล TN เกรดสูงจะไม่มีใส่ในโน้ตบุ๊กแล้ว) ข้อเสียของมันคือ มุมมองภาพแคบ มองจากทางด้านข้างสีจะเพี้ยน มองจากด้านล่างจะทำให้ภาพมืด มองจากด้านบน จะทำให้ภาพซีดลง ทั้งยังเป็นจอที่ทำให้สีเพี้ยนหนักมาก เนื่องด้วยจอที่ใส่โน้ตบุ๊กนั้นเป็นจอเกรดต่ำ ทำให้การแสดงสีสันก็ทำได้แย่ ไม่เหมาะแก่การเอามาใช้ทำงานด้านภาพและกราฟิกทั้งปวง ถึงแม้จะบอกว่าใช้งานทั่วไป ทำงานเอกสาร แต่สิ่งที่คุณจะต้องพบเจอกับความคมชัดที่เข้าขั้นแย่ สีขาวฟุ้ง สีดำออกเทา และมันจะไม่มีมุมมองไหนที่เพอเฟคสำหรับระดับสายตาของคุณ ซึ่งมันไม่ friendly กับสายตามนุษย์อย่างยิ่ง (ขออนุญาตสับเละ เพราะไม่มีเหตุผลอะไรให้อวยเลย นอกจากทำใจรับสภาพ)

IPS (In-plane Switching) เทคโนโลยีสิทธิบัตรของ LG PHILLIPS ที่จะให้จอภาพที่สีสันสดใส มุมมองกว้าง 178 องศา และมีค่าสีที่แม่นยำกว่าพาเนลอื่น ๆ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ในโน้ตบุ๊กระดับราคาตั้งแต่ 1.5-2 หมื่นบาท ขึ้นไปนั้น จอพาเนล IPS จะมีหลายแยกเกรด ทั้งนี้จะเป็นการแยกประเภทคุณภาพหน้าจอในเรื่องของ ความคมชัด ความสว่าง การแสดงสีสัน ความแม่นยำของสี ถ้าหากว่าเป็นไปได้ เราก็ขอแนะนำให้เลือกซื้อโน้ตบุ๊กที่ใช้จอพาเนล IPS เป็นตัวเริ่มต้นไว้ก่อน ถึงแม้อาจจะราคาแพงกว่ารุ่นที่ใช้จอพาเนล TN ไม่มากนัก แต่การใช้งานจริงนั้นจอพาเนล IPS นั้นจะไม่ทำให้คุณปวดตาเมื่อใช้งานนาน ๆ เพราะเรื่องของมุมมอง และคอนทราสของหน้าจอที่ดีกว่า (ถ้ายังไม่โอเคกับสีสัน ก็ค่อยติดต่อ RIPS COMP มาเปลี่ยนจอทีหลังได้)

นอกจากนี้ยังมีลูกเล่นทางการตลาดในการตั้งชื่อจอพาเนลอีกมาก ที่อาจทำให้คุณปวดหัวได้ เช่น WLED, Comfy View, IPS-Level, WVA และอีกมาก ที่เป็นการเล่นคำเพื่อหลีกเลี่ยงใช้ชื่อตรง ๆ เพราะผู้ผลิตที่ใช้เทคโนโลยี “ใกล้เคียง” มีตั้งหลายเจ้า

  • ตัวอย่างสเปคหน้าจอที่อาจพบได้ “15.6 Full HD IPS”
  • “15.6 FHD ComfyView LED Backlight” แน่นอนว่านี่คือพาเนล TN

การแสดงความกว้างของสีสันหน้าจอ

เกริ่นนำ การแสดงสีสันของหน้าจอนั้น ขึ้นอยู่กับความกว้างของการแสดงสีตามมาตรฐานต่าง ๆ โดยจะมีหลัก ๆ อยู่เพียง 3 แบบ ที่เรามักคุ้นชินกัน ได้แก่ sRGB ขอบเขตสีเริ่มต้นที่ใช้แพร่หลายในยุคปัจจุบัน, AdobeRGB ขอบเขตสีสำหรับการแต่งภาพและสื่อสิ่งพิมพ์ และ DCI-P3 ขอบเขตสีสำหรับคอนเทนต์ภาพยนต์

อ่านบทความเรื่อง ตัวอย่างของขอบเขตสี sRGB AdobeRGB DCI-P3

น่าแปลกใจมากว่า ขอบเขตสี NTSC นั้น ไม่ได้ถูกนำมาใช้หรืออ้างอิงในมาตรฐานปัจจุบันแล้ว แต่ทางผู้ผลิตหน้าจอกลับนำมาใช้เป็นตัวกำกับว่าหน้าจอนั้น ๆ แสดงสีได้ในระดับใด ซึ่งในแง่ของการอ่านสเปคหน้าจอนั้น ค่าความกว้างของสีหน้าจอเราจะใช้วิธีสังเกตุได้ดังต่อไปนี้

  1. 45% NTSC คือการแสดงช่วงสี sRGB ที่ประมาณ 55-66%
  2. 72% NTSC คือการแสดงช่วงสี sRGB ที่ประมาณ 93-100%
  3. 94% NTSC คือการแสดงช่วงสี sRGB ที่ประมาณ 130% ขึ้นไป
  • ตัวอย่างสเปคหน้าจอที่อาจพบได้ “15.6 Full HD IPS 45% NTSC
  • 15.6 Full HD IPS up to 100% sRGB

แล้วเพราะอะไรทางผู้ผลิตถึงไม่เขียนค่า sRGB / AdobeRGB มาให้เป๊ะ ๆ ไปเลย? ถ้าหากให้มองในแง่ของความ “ง่าย” ในการดูผ่าน ๆ ตานั้น การจำแนกเพียงแค่ จอนั้น ๆ เป็นจอขอบเขตสีต่ำ (45% NTSC) หรือจอขอบเขตสีกว้าง (72% NTSC ) จึงดูเป็นอะไรที่ไม่ต้องอธิบายมาก และไม่ได้เป็นการชี้จำเพาะเจาะจงที่ตัวเลข เพราะความคลาดเคลื่อนของตัวเลขสีหน้าจอจะไม่คงที่หรือเท่ากันเสมอไป ลดโอกาสเกิดความเข้าใจผิด และความคาดหวังของผู้ซื้อที่จะต้องได้ตัวเลขตามนั้น แม้แต่ในการรีวิวหน้าจอเองก็ตาม ผู้รีวิวก็ควรจะต้องเขียนกำกับด้วยว่า ผลรีวิวกับสินค้าในที่ขายจริงอาจแสดงตัวเลขได้ไม่เท่ากัน เป็นต้น

แล้วหน้าจอที่แสดงตัวเลขเปอเซ็นต์ได้สูงกว่าบ่งบอกถึงอะไร? ให้ตอบอย่างง่ายคือ ยิ่งจอแสดงสีได้กว้างขึ้น จอนั้น ๆ จะยิ่งมีสีสันที่จัดจ้านขึ้น สีสดขึ้น ไล่ระดับเฉดสีได้ดีขึ้น เม็ดสีดูละเอียด ไล่เฉดสีได้ดีขึ้น และไม่ใช่เพียงแค่สีสวยขึ้นอย่างเดียว แต่ยังทำให้เรามองเห็นรายละเอียดของเม็ดสีที่แสดงในส่วนของเงามืดได้ดีขึ้น เรียกง่าย ๆ ว่า จอที่ขอบเขตสีกว้างนั้นเหมาะสำหรับทุกคน ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นคนที่ใช้แต่งภาพ ออกแบบกราฟิก หรืองานเฉพาะทางเท่านั้น เพราะข้อดีขั้นพื้นฐานของมันคือ “การทำให้จอดูสีสวยมากขึ้น”

อีกจุดหนึ่งในเรื่องของเปอเซ็นต์ตัวเลขเหล่านี้ หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นค่าความตรงของสี ยิ่งจอมีค่าตัวเลขสูง จอยิ่งสีตรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งยังถือว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะค่าความแม่นยำและถูกต้องนั้น จะเป็นอีกค่า DeltaE ที่ใช้อิงกับมาตรฐานอุตสาหกรรม (ซึ่งเรายังไม่ขออธิบายในบทความนี้) แต่แค่ให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า ค่า 100% sRGB ไม่ได้หมายถึง จอสีตรงและถูกต้อง 100% เสมอไป

ชนิดพื้นผิวของหน้าจอ

ในปัจจุบันจะมีพื้นผิว 2 แบบด้วยกันคือ พื้นผิวด้าน (Anti-glare, Matte) และพื้นผิวเงา (Glossy) ที่เป็นฟิล์มเคลือบหน้าจอชั้นบนสุด ซึ่งราว 70% ของตลาดโน้ตบุ๊ก PC นั้น จะใช้พื้นผิวเป็นแบบ พื้นผิวด้าน (Anti-glare, Matte) ทั้งนั้น ข้อดีของมันคือช่วยลดเงาสะท้อนที่กระทบเข้าที่หน้าจอ แต่ทั้งนี้หลักการลดแสงสะท้อนนั้น จำเป็นจะต้องพึ่งพาแสงสว่างของหน้าจอเป็นตัวช่วยด้วย

และอีกประเภทหนึ่งก็คือ ผิวเงา (Glossy) ที่จะมีสองแบบแล้วแต่ผู้ผลิตจะเลือกใช้คือ เป็นแบบพื้นผิวเงาที่เป็นฟิล์มเคลือบชั้นบนสุดของหน้าจอ กับแบบที่เป็นพื้นผิวกระจกปิดทับหน้าจอ ที่มักเจอได้ในรุ่นที่เป็นจอทัชสกรีน หรือพวก Macbook ข้อดีของมันคือการหักเหของแสงและเงา จะทำให้จอภาพดูสีสวยกว่าพื้นผิวด้านมาก ๆ แต่ข้อเสียที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ มันจะสะท้อนทุกสิ่งอย่างบนหน้าจอ โดยเฉพาะพื้นสีดำ ซึ่งในกรณีพื้นผิวชนิดนี้ จำเป็นจะต้องใช้ความสว่างในลดการสะท้อนแสงและเงามากเป็นพิเศษ

ในการอ่านสเปคหน้าจอนั้น เราอยากให้ผู้อ่านลองสังเกตุให้ดีก่อนว่า หน้าจอนั้น ๆ เป็นพาเนลชนิดอะไร และเลือกใช้พื้นผิวแบบไหน เพราะมันมีกรณีที่ผู้ผลิตจงใจเขียนแบบมัดรวมมาเลย เช่น “15.6 HD (1366×768) LED Backlight Anti-glare” สังเกตุมั้ยว่าเขาพยามเลี่ยงที่จะเขียนว่าเป็นพาเนล TN แถมยังพาให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดมาโดยตลอดว่า “จอด้าน = จอ TN” และ “จอกระจก = จอ IPS” ซึ่งมันไม่ใช่!

ค่าความสว่างของหน้าจอ

ระดับความสว่างของหน้าจอนั้น เราจะใช้ค่าหน่วยเรียกเป็น Nits (นิตส์) เพราะหน้าจอนั้นจะใช้การกระจายแสงแบบแนวระนาบ (วัดเทียบหน่วยต่อเป็นตารางเมตร) โดยหน้าจอโน้ตบุ๊กส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้น จะมีค่าความสว่างอยู่ที่ราว ๆ 220-250 nits หรือถ้าเป็นจอที่เกรดสูงขึ้น หรือจอที่แสดงช่วงสีได้กว้างขึ้น ก็มักจะมีค่าความสว่างที่ราว ๆ 300-350 nits

ยิ่งจอมีความสว่างมากขึ้น นั่นหมายถึงจอนั้น ๆ จะสามารถต้านแสงสะท้อนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหากเราใช้งานภายในบ้านที่ไม่ได้มีแสงสว่างมากนัก ความสว่างที่แนะนำในการใช้งานทั่วไป (หรือการแต่งภาพ) นั้น มักจะอยู่ที่ 120 nits เท่านั้น ส่วนความสว่างที่สูงระดับ 300 nits ขึ้นไปนั้น เหมาะสำหรับการนำไปงานนอกสถานที่ หรือที่ที่มีภาวะแสดงค่อนข้างมาก จะช่วยเป็นการต้านแสงไม่ให้จอเรามืดเกินไป ยังพอมองเห็นความเข้มข้นของสีได้ดีอยู่

นอกเหนือจากการใช้ต้านแสงอย่างเดียว ยังมีข้อดีคือ ทำให้เราสามารถเล่นเกม ดูหนัง มองเห็นรายละเอียดในส่วนมืดได้ดีขึ้น สีสันจะมาเต็มกว่าจอที่สว่างน้อยกว่า (ที่มันไม่ได้แสบตา เพราะเราอาจจะไม่ค่อยได้เจอสีขาวตลอดเวลาเหมือนเล่นหน้าเว็บ) หรือถ้าเป็นในกรณีของการแต่งภาพนั้น เราก็สามารถใช้เปิดแสงสว่างเพื่อเช็คคอนทราส หรือรายละเอียดของภาพที่เราอาจไม่ทันสังเกตุได้

หากผู้ผลิตไม่ได้เขียนกำกับไว้ในสเปค หรือหน้าเว็บ (ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยเขียนบอกไว้อยู่แล้ว) เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหน้าจอนั้น ๆ ให้ค่าความสว่างเท่าไหร่ นอกจากการหาข้อมูลจากสำนักรีวิวเพียงอย่างเดียวแล้ว ต้องตอบตามตรงว่าไม่สามารถรู้ได้ ถ้าหากไม่มีอุปกรณ์ในการวัดค่าแสงสี Colorimeter อย่าง Spyder หรือ i1 Display

ถึงแม้ความสว่างที่ผู้ผลิตแจ้งไว้ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นความสว่างที่ตัวเลขนั้น ๆ เสมอไป ก่อนอื่นให้เราทำความเข้าใจก่อนว่า พื้นที่บนหน้าจอนั้น จะแสดงค่าความสว่างที่ไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่จะเป็นค่า Peak Brightness หรือค่าความสว่างของหน้าจอสูงสุด ซึ่งเราก็ไม่มีทางรู้ว่า Peak Brightness ที่ว่านั้น คือตำแหน่งไหนของหน้าจอ เพราะจากประสบการณ์ที่เราได้ทดลองวัดค่าแสงบนหน้าจอมานั้น เราทดสอบง่าย ๆ เพียงแค่ขยับเซ็นเซอร์ออกจากจุดเดิมเพียงแค่ 2-3 cm ก็ทำให้ค่าความสว่างเปลี่ยน สูงขึ้นบ้าง ต่ำลงบ้าง เพราะฉะนั้นเกณฑ์หลัก ๆ ที่ใช้วัดค่าความสว่างหน้าจอส่วนใหญ่นั้น จะแบ่งเป็นพื้นที่ 9 ช่อง ของหน้าจอทั้งหมด แล้ววัดที่จุดกึ่งกลางของแต่ละช่อง แล้วมาคำนวนว่าค่า Peak Brightness ของหน้าจอนั้น สามารถแสดงได้ที่เท่าไหร่

ตัวอย่างสเปคหน้าจอที่อาจพบได้ “15.6 Full HD IPS 300 Nits Display

เกร็ดความรู้เรื่องความสว่างหน้าจอ ถึงแม้ความสว่างของจอโน้ตบุ๊กจะไม่ได้สูงเท่าจอมือถือ หรือจอแท็บเล็ตในปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่าลักษณะการใช้งานของแต่ละอุปกรณ์นั้นแตกต่างกัน เช่น จอโน้ตบุ๊กใช้สำหรับในสถานที่ หรือจอมือถือใช้สำหรับการออกนอกสถานที่เป็นประจำ และที่สำคัญคือขนาดของหน้าจอของสองอุปกรณ์ก็แตกต่างกัน ยิ่งจอใหญ่มาก ยิ่งมีการกระจายของพื้นที่แสงมากกว่า เมื่อเทียบในความสว่างที่เท่ากันของสองอุปกรณ์ สมมุติแค่ความสว่าง 300 nits คุณอาจรู้สึกได้ว่า จอโน้ตบุ๊กอาจจะทำให้แสบตากว่าด้วยซ้ำไป

Refresh Rate ที่มีผลต่อความลื่นในการใช้งาน

ค่ามาตรฐานของจอทั่วไปนั้น จะมีค่า Refresh Rate ที่ 60Hz (Hertz) ซึ่งหมายถึง ใน 1 วินาทีนั้น หน้าจอจะมีรอบการกระพริบหน้าจอที่ความถี่ 60 ครั้ง ซึ่งในโน้ตบุ๊กปัจจุบันที่มีราคาเฉลี่ยตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ขึ้นไป (ในซีรี่ย์ตระกูล Gaming) ล้วนเป็นจอที่มี Refresh Rate สูง ๆ แล้วทั้งนั้น ตั้งแต่ 120Hz ถึง 144Hz นั่นหมายถึง ใน 1 นาที นั้น หน้าจอจะกระพริบถี่มาก ส่งผลต่อการแสดงผลให้เราเห็นความลื่นไหลของภาพได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอนิเมชั่นในการแสดงผลของ Windows การเลื่อนหน้าเว็บ หรือแม้กระทั่งการเล่นเกมที่ยิ่งกราฟิกการ์ดสามารถสร้างจำนวนเฟรมต่อวินาทีได้สูง จอก็ยิ่งแสดงผลให้ตาเราได้เห็นความลื่นไหลนั้นมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างสเปคหน้าจอที่อาจพบได้ “17.3 Full HD IPS 144Hz 3ms

เมื่อคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้วเราคาดหวังว่าอย่างน้อยคุณผู้อ่านก็น่าจะพอเข้าใจสเปคหน้าจอแบบเบื้องต้นได้แล้ว จะได้ไม่ต้องเลือกผิดเลือกถูกเวลาจะซื้อโน้ตบุ๊กสักเครื่องนึง เพราะที่จริงในเรื่องของหน้าจอนั้่นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะมาก ๆ ซึ่งไว้เราจะคัดออกมาอธิบายกันเป็นเรื่องอีกที ยังไงก็ฝากติดตามกันในบทความหน้านะครับ