วิธีปรับโทนสีหน้าจอโน๊ตบุ๊ค ให้สีตรงใกล้เคียงจอ iPad Pro

เมื่อช่วงประมาณสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปถอย iPad Pro รุ่นใหม่ จอ 11 นิ้ว จากที่ Apple Store สาขา Icon Siam ซึ่งจุดประสงค์หลักก็คือ ต้องการนำมาเปรียบเทียบกับจอ IPS Hi-end เพื่อพิสูจน์ว่าจอโน๊ตบุ๊คที่ sRGB 100% นั้น จะพอสามารถเทียบเคียงกับเทคโนโลยีหน้าจอ P3 อย่างของ iPad Pro ได้หรือไม่ แล้วหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนเศษๆ ที่ผมใช้ทดสอบอย่างเต็มที่ ก็พบว่ามันค่อนข้าง work เลยทีเดียว (แต่ส่วนใหญ่จะหนักไปทางเล่นเกมมากกว่านะ 555)

สิ่งแรกที่ผมตัดสินใจซื้อเจ้า iPad Pro ตัวนี้เลยคือ การมาของ USB-C ที่เราวาดฝันว่ามันจะเชื่อมกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้สะดวกสบายมากขึ้น ได้ใช้ Adobe Lightroom เวอร์ชั่น iPad ที่รองรับ Apple Pencil อารมณ์แบบขี้เกียจๆ ไม่อยากแบกโน๊ตบุ๊คไปมาอีก ถ่ายรูปแล้วเสียบลง iPad ทำงานต่อจบเลย แต่จากที่ผมทดลองอะไรหลายๆ อย่างแล้ว กลับพบว่า การที่มันยังคงเป็นระบบ iOS ที่ปิดตายด้านการดึงไฟล์เข้าออกอย่างอิสระนั้น มันกลับทำให้ชีวิตไม่ได้สะดวกไปกว่าเดิมเสียเท่าไหร่ (ไม่ขอพูดถึงรายละเอียดนะ อยากให้ไปลองหาข้อมูลกันเอง เดี๋ยวยาว)

มาเข้าเรื่องของเราเลยดีกว่า หน้าจอแสดงผลแบบ Liquid Retina Display ของ iPad pro จัดว่าดีมาก Apple เคลมว่าเป็นหน้าจอที่สีตรงตรงตามมาตรฐานมากที่สุด ซึ่งบางครั้งอย่างจอโน๊ตบุ๊คเอง เราอาจจะไม่ได้เห็นสีสันที่ครบถ้วน หรือใกล้เคียงกับจอ iPad เลย เรียกว่าอาจจะเพี้ยนเละเทะไปเลยก็ได้ ถ้าหากว่าจอนั้นไม่ได้รองรับ sRGB 100% เป็นอย่างต่ำ (ข้อนี้สำคัญมาก) ดูภาพด้านล่างนี้ระหว่างจอ sRGB 100% กับ sRGB 60%

สำหรับจอ iPad นั้นจะรองรับ Gamut แบบ Display P3 (gamma 2.2) ใกล้เคียงกับ DCI-P3 ที่ gamma 2.6 โดยยังคงไว้กลิ่นอายของ sRGB อยู่ แต่จะเน้นไปทาง oversaturated ประกอบกับความสว่างระดับ 600 nits ทำให้สีจัด สดสว่างขึ้น ซึ่งการที่จะให้จอของ iPad แสดงสีสันได้ใกล้เคียงกับ sRGB นั้น อาจจะต้องลดระดับความสว่างลงมาสักประมาณ 30%

โดยสำหรับจอ IPS High-end ของเรา ที่รองรับ sRGB 100% และความสว่างเพียง 300 nits นั้น สามารถแสดงเฉดสีหลายๆ ตัวได้ค่อนข้างใกล้เคียง (ด้วยระดับความสว่างที่เท่ากัน) แต่โทนสีของหน้าจอ โดยเฉพาะสีขาว หรือภาพที่มีส่วนผสมของสีขาวนั้นก็ยังไม่ใกล้เคียงเสียทีเดียว เป็นเพราะ White Point หรือ White Balance ที่ไม่เท่ากัน วันนี้เราเลยจะมาแนะนำวิธีการปรับโทนสีหน้าจอเพื่อให้ทั้งสองอุปกรณ์สามารถแสดงสีได้ใกล้เคียงกันมากที่สุด

หมายเหตุ วิธีการปรับ White Point หน้าจอของเรานั้น จะไม่ใช้ Colorimeter อย่างพวก Spyder ในการ measurement เป็นเพียงการปรับด้วยการใช้สายตาเปรียบเทียบความต่างเป็นหลัก สำหรับท่านที่มองว่าวิธีนี้ไม่ถูกต้อง หรืออยากยึดเรื่องผล Absolute Color Accuracy เป็นหลัก ขอให้มองข้ามบทความนี้ไปนะครับ

เกริ่นมาซะยืดยาว มาเข้าเรื่องของเรากันเลยดีกว่า ขั้นตอนแรกให้เราโหลดแอพ Team Viewer มาลงก่อน ทั้งโน๊ตบุ๊ค และ iPad เพื่อใช้เชื่อมเป็นจอแบบ clone ในการเทียบสีของเรา

จากนั้นก็ทำตามขั้นตอนของมัน ด้วยการใส่ ID และ Password ของเครื่องหลักที่จะเชื่อมด้วย iPad

ปัญหาที่น่ารำคาญของสัดส่วนจอ ipad คือมันเป็น 4:3 ที่ซึ่งโน๊ตบุ๊คส่วนใหญ่จะเป็น 16:9 หมดแล้ว เราก็ต้องเข้ามาแก้ในส่วนของ Resolution ให้ได้เป็น 1920×1080 เสียก่อน

การจะเริ่มปรับโทนสีหน้าจอนั้น ให้เปิดหน้าจอทิ้งไว้ขั้นต่ำสัก 30 นาที เพื่อวอร์มอุณหภูมิสีของหน้าจอ แล้วกดที่ปุ่ม Windows โดยพิมพ์ค้นหาว่า Calibration Display Color (ในหมวด Control Panel)

ข้อดีของการปรับโทนสีด้วยการเชื่อมแอพ Team Viewer แบบนี้ก็คือ อุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อนั้น จะไม่มีผลกับการปรับโทนสีของหน้าจอหลักแต่อย่างใด เหมาะแก่การใช้เป็นโทนสีเป้าหมายหลักของเรา

ขั้นตอนต่อไป ให้เรากด next ไปเรื่อยๆ จนถึงหมวด Adjust Color Balance สำหรับปรับสี RGB พอถึงหน้านี้ ให้เราย่อหน้าจอให้เล็กลง แล้วเปิดไฟล์ภาพสัก 1 รูป เพื่อเอามาเทียบสีให้ได้ตรงกับเป้าหมายของเรา

สังเกตุว่า สำหรับจอ IPS ของเรา เมื่อเทียบกับ iPad นั้น หลายๆ เฉดสีจะค่อนข้างมีความใกล้เคียงกัน โดยสายตาที่ผมมองเห็นอยู่ตอนนี้คือ จอโน๊ตบุ๊คจะค่อนข้างติดเขียว และจอติดโทนอุ่นมากไป ผมเลยต้องลดสีเขียวลง และสีแดงกระดิกตามเล็กน้อย โดยที่สีน้ำเงินคงไว้เท่าเดิม และอย่าลืมลดความสว่างให้เท่ากันด้วย (ปล. ภาพถ่ายจากกล้องมือถือ สีไม่ตรงกับที่สายตาจริงเห็นนะครับ)

คือแน่นอนว่า เฉดสีเหล่านี้มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำให้มันเป๊ะอะไรขนาดนั้น เพราะหน้าจอก็ไม่เหมือนกัน คนละผู้ผลิต โปรไฟล์ที่ใช้คนละตัว การกำหนดค่าสี R G B ที่ไม่เหมือนกัน ร้อยแปดเหตุผล ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่าวิธีเราใช้เป็นตัวดูโทนสีภาพรวมคร่าวๆ ซึ่งแนะนำว่าให้ลองเปิดไฟล์ภาพสัก 2-3 รูป แล้วปรับใหม่อีกรอบดูเพื่อความชัวร์นะครับ อย่างภาพนี้เป็นภาพถ่ายกลางคืน โดยมีแสงไฟกระทบที่หน้า เราก็จะต้องเน้นปรับที่สีผิวให้ใกล้เคียงเป็นหลักก่อน ซึ่งมันก็จะคนละแบบกับพวกแสงแดดตอนกลางวันที่มีส่วนผสมของสีขาวเยอะ อันนี้ต้องลองปรับและดูภาพรวมอีกทีนึง

เมื่อได้โทนสีที่ใกล้เคียงกันทั้งสองจอแล้ว ผมก็เริ่มทดลองปรับแก้ผิวด้วย Lightroom บนโน๊ตบุ๊คเลย แล้วใช้อาศัยมองจอ iPad เพื่อเช็คความชัวร์อีกทีนึง ซึ่งมันจะมี delay ของภาพประมาณ 1 วินาที ขึ้นอยู่กับระดับสัญญาณที่เชื่อมต่อด้วย

สำหรับภาพนี้ ผมจะแก้ผิวนางแบบด้วยการปรับ Temp -21 ดึงฟ้า แล้ว Tint ให้ออกชมพูที่ +19 และเพิ่มแสงสว่าง ลด Contrast ดึง Highlight ลงหน่อย ให้ผิวดูนวลๆ ขาวอมชมพู เน้นดูเป็นธรรมชาติ

ทีนี้เราสามารถดู Before & After ได้อย่างสบายใจ สร้างความมั่นใจมากขึ้นว่า เราจะส่งภาพนี้ไปดูด้วยอุปกรณ์อื่นแล้วก็ยังคงเห็นโทนสีที่เราพิถีพิถันปั้นมาอยู่แทบครบถ้วน

เรามาลองอีกไฟล์ภาพนึงกัน ที่เจอแสงหลอดไฟรบกวนจนผิวติดเหลืองเช่นกัน โดยผมจะใช้พรีเซ็ตคล้ายๆ กัน แต่ภาพนี้จะปรับ contrast ให้หนักขึ้นนิดนึง และลด Clarity ให้ดูฟุ้งๆ นิดหน่อย

ผมคิดว่าจอ iPad เองก็มีคอนทราสที่หนักกว่าหน่อย พอสังเกตุเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากพวกสีดำเส้นผม เป็นผลให้บางเฉดสีดูเข้มกว่าอันนี้ก็ไม่ต้องไปซีเรียสมากนะครับ

เทียบ Before & After ดู ได้ตามนี้ หากมองด้วยสายตาจริง โทนสีจะค่อนข้างใกล้เคียงมากๆ คือผมว่ามันโอเคในระดับนึงตรงที่ว่า นอกจากการที่เราไม่ต้องมาปวดหัวเวลาแก้ไขเรื่องผิวแล้ว การเล่นคุมโทนต่างๆ ก็สนุกมากขึ้น และมั่นใจมากขึ้น อยากให้ไปลองดูกันเอง

แถมอีกภาพนึง ให้ดูฉากหลังที่พอสว่างหน่อย และมีสีอื่นๆ ผสม จะเห็นว่ามันค่อนข้างใกล้เคียงกันมากๆ เลย (แต่จากสายตาจริง ไอแพดจะสีเข้มกว่า และคอนทราสหนักกว่า)

หรือถ้าเป็นอย่างงานของผมคือการถ่ายภาพหน้าจอโน๊ตบุ๊คแล้วแต่งสีฟ้อนลงเพจ ก็ค่อนข้างเป๊ะเหมือนกันนะ คือแบบเราสบายใจเลย ออกแบบมายังไง จอ iPad มันก็แสดงมาแบบนั้น

ส่วนพวกไฟล์ภาพกราฟิกที่เป็นสีสันฉูดฉาด ไม่เน้นสีผิวมนุษย์นั้น ต้องถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันมากๆ อันนี้แอบภูมิใจที่จอโน๊ตบุ๊คที่ยังสามารถแสดงสีสันได้ค่อนข้างใกล้เคียงมากๆ กับจอ iPad เลยทีเดียว

ก็ถือว่าเป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนที่ใช้จอ sRGB 100% โดยที่ไม่มีเครื่องคาลิเบรตใช้งาน หรือต้องการเซ็ต White point ให้ใกล้เคียงกับอุปกรณ์ที่เราใช้อยู่อย่าง iPad หรือมือถือทั่วไป ก็สามารถใช้วิธีนี้ในการปรับจูนโทนสีของหน้าจอแบบเบื้องต้นได้ เพื่อลดระยะเวลาในการแก้ไขงานนะครับ ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ก็อย่าลืมฝาก Share ไว้ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันด้วย ถ้าหากมีข้อมูลผิดพลาดส่วนไหน สามารถแจ้งมาที่แอดมินได้เลย เรายินดีรับฟัง และแก้ไขข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่านสูงสุดนะครับ สวัสดีครับ

RIPS COMP บริการเปลี่ยนจอ IPS