หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ Retina display จากมือถือ iPhone หรือแม้กระทั่ง Macbook, iMac กันมานานแล้ว แต่อาจจะยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร และทำไมอุปกรณ์อื่นๆ จึงไม่ใช้หน้าจอประเภทนี้กันบ้าง ก่อนอื่นเรามาท้าวความกันก่อนว่า “Retina display” นั้นคือชื่อทางการตลาดของหน้าจอที่ Apple ใช้เรียกกับเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Mac หรือ iDevice ทั้งตระกูล และได้มีการจดสิทธิบัตรในปี 2012 ในชื่อ “Retina” หมายความว่า จะไม่มีใครสามารถนำชื่อนี้ไปใช้ทางการตลาดได้ นอกจาก Apple แต่เพียงผู้เดียว

ซึ่งอุปกรณ์รุ่นแรกที่ใช้หน้าจอแบบ Retina คือ iPhone 4 ที่ใช้หน้าจอพาเนล IPS ขนาดจอ 3.5 นิ้ว ความละเอียด 640×960 หรือ 326 ppi (PPI คือ Pixel Per Inch หรือการวัดจำนวนเม็ดพิกเซลต่อนิ้ว) โดยคุณสมบัติของหน้าจอที่จะเรียกว่า Retina display นั้น ทาง Apple ได้นิยามไว้ว่า Retina คือหน้าจอที่มีความคมชัดของรูปภาพและตัวหนังสือที่มากพอ โดยวัดจากระยะห่างจากหน้าจอและระยะสายตาที่จะทำให้เราไม่สามารถมองเห็นหรือแยกแยะเม็ดพิกเซลได้แล้ว แต่ไม่ได้มีการกำหนดตายตัวว่าจะต้องมีความหนาแน่นของพิกเซล หรือมีความละเอียดขั้นต่ำเท่าไหร่จึงจะเรียกว่าเป็นระดับ “Retina”
ในกรณีนี้เราจึงยกตัวอย่างสำหรับจอโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้ว ที่มีความละเอียด Full HD (1920 x 1080) จะมีพิกเซลอัดแน่นถึง 142 ppi ฟังแล้วอาจจะดูเหมือนว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนที่ปัจจุบันอัดแน่นกันถึง 350-500+ ppi แต่นั่นคือความหนาแน่นของพิกเซลต่อนิ้ว ซึ่งมือถือมีขนาดจอที่เล็กกว่ามาก แต่กับจอมอนิเตอร์หรือจอโน๊ตบุ๊คจะมีขนาดที่ใหญ่กว่า จึงทำให้ตัวเลข ppi นี้ดูต่ำกว่าไปโดยปริยาย แต่ด้วยความหนาแน่น 142 ppi เมื่อเทียบกับขนาดหน้าจอแล้ว ถือว่ามีความคมชัดที่เพียงพอแล้วที่จะเรียกว่า Retina Display แบบ Apple ได้เช่นกัน

“เมื่อเรายิ่งใช้ขนาดหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น ความหนาแน่นของเม็ดพิกเซลก็จะน้อยลงตามลำดับ ทำให้เรามองเห็นเป็นเม็ดพิกเซลได้ง่ายกว่าจอที่มีขนาดเล็กกว่า”
เพราะระยะที่เหมาะสมกับการใช้งานจริงระหว่างหน้าจอกับสายตา จะมีระยะห่างอยู่ที่ราว 60 cm. ขึ้นไป (ในทีนี้กล่าวถึงจอโน๊ตบุ๊ค 15.6 นื้ว) เป็นระยะที่เรามองไม่เห็นเม็ดพิกเซลแล้ว แต่เมื่อเรายิ่งใช้ขนาดหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น ความหนาแน่นของเม็ดพิกเซลก็จะน้อยลงตามลำดับ ทำให้เรามองเห็นเป็นเม็ดพิกเซลได้ง่ายกว่าจอที่มีขนาดเล็กกว่า จึงอาจจะต้องทดแทนกันด้วยความละเอียดของหน้าจอที่สูงขึ้น หรือใช้งานด้วยระยะสายตาที่ห่างจากหน้าจอออกไปอีก เพราะฉะนั้นสำหรับโน๊ตบุ๊คจอขนาดเล็กๆ อย่าง 15.6 นิ้ว ที่มีความละเอียดสูงถึง 4K นั้น เราคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ “การตลาด” และเป็นภาระของเครื่องโดยเปล่าประโยชน์ หรือ “เกินความจำเป็น” ไปเสียหน่อยครับ

เมื่อทราบแล้วว่าเป็นชื่อทางการตลาดเฉพาะของ Apple เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมโน๊ตบุ๊คทั่วไป ถึงไม่มีจอ Retina display บ้าง แต่อย่าลืมว่า ความหมายของ Retina ในที่นี้มันเป็นเพียงชื่อทางการตลาดที่ใช้นิยามหน้าจอของ Apple เท่านั้น เพราะถ้าเรามาดูที่ฝั่งตลาดโน๊ตบุ๊คทั่วไปนั้น (โดยใช้การนิยามตามแบบฉบับ Retina) เราก็จะเห็นได้ว่า จอโน๊ตบุ๊คไม่ว่าจะไซส์ขนาดไหนก็ตาม ก็สามารถเป็น Retina Display ได้ หากมีความหนาแน่นของพิกเซลที่เพียงพอ เมื่อเทียบกับระยะสายตาของการใช้งานจริง แต่จริงๆ แล้ว เราใช้วัดกันแบบไม่ต้องใช้สูตรคำนวณอะไรให้ยุ่งยาก เอาแค่ว่ามันดูแล้วมีความคมมากพอก็ถือว่าเป็นอันใช้ได้แล้วครับ