IPASON E2728S-M เป็นจอพาเนล IPS ขนาด 27 นิ้ว ความละเอียด 2K (2560×1440) พร้อม Refresh Rate 165Hz รุ่นใหม่จากทาง DEVA IPASON ที่ได้ส่งตัวจอมาให้ทาง RIPS COMP ได้ทำการรีวิว ด้วยค่าตัวเพียง 6,980 บาท (สั่งซื้อสินค้าได้ที่ ลิงก์นี้) จะเป็นยังไงบ้าง บทความนี้เราจะพาไปเจาะลึกกันครับ

จุดเด่น
– พาเนล IPS คุณภาพสูง แสดงขอบเขตสีได้ทำได้ถึง 100% sRGB ตามสเปคที่ระบุไว้
– Uniformity อยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ได้ มีแสงรั่วเล็กน้อยแค่มุมจอ (ในตัวที่เราได้รับมารีวิว) แทบไม่เป็นที่สังเกตุในการใช้งานจริง
– ความสว่างสูงสุดราว 370 nits สามารถใช้ต้านแสงสะท้อนได้ดีในระดับนึง
– Contrast อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ให้ค่าสีดำที่ต่ำมากเมื่อเปิดความสว่างสูงสุด
– รองรับโหมด HDR
– มุมมองรับภาพกว้าง
จุดที่ต้องปรับปรุง
– สายอแดปเตอร์ยังไม่ได้รับการปรับปรุง
– ไม่มีลำโพงในตัว
– โหมด 165Hz ยังมีปัญหาเล็กน้อย ไม่สามารถใช้งานจริงได้ จำเป็นต้องรอแก้ไข
– ไม่แถมสาย HDMI มาให้ด้วย เพราะโหมด HDR นั้น ต้องใช้กับสาย HDMI เท่านั้น
– โหมด HDR ให้ความสว่างที่ค่อนข้างต่ำกว่าโหมด SDR
– ยังไม่รองรับ G-Sync
SPECIFICATION
– ขนาด 27” QHD (2560×1440) 163 ppi
– พาเนล IPS
– พื้นผิวหน้าจอด้าน กันสะท้อนแสง (3H)
– Peak Brightness 373 (cd/m2)
– Contrast 1425:1 (Static)
– Black Level 0.262 (cd/m2)
– Refresh Rate 165Hz
– มุมมองกว้าง 178° (H), 178° (V)
– ขอบเขตสี 109.8% sRGB, 75.7% AdobeRGB, 77.8% DCI-P3 (Volume)
– รองรับ AMD FreeSync, HDR400
– พอร์ต DisplayPort 1.2 (x2), HDMI 2.0 (x1), HDMI 1.4 (x1), Mic
– น้ำหนัก 5.1 กิโลกรัม
– การรับประกัน 3 ปี จากทาง DEVA
DESIGN
เริ่มจากที่รูปร่างหน้าตาของมันกันก่อน สำหรับเจ้า IPASON E2728S-M ตัวนี้ตัวล็อตใหม่ที่ปั๊มโลโก้เป็นภาษาอังกฤษ เสริมความเป็นแบรนด์อินเตอร์ตั้งแต่แกะกล่องและวางขายเลย ไม่มีโลโก้ภาษาจีนเหมือนกับ อีกรุ่น ที่เราเคยได้ทำรีวิวไปก่อนหน้านี้ ในส่วนของด้านหน้านั้นก็เป็นลักษณะของแผงจอแบบแบน ไม่โค้ง ที่มีขอบจอบาง ๆ ตามยุคสมัยของจอมอนิเตอร์รุ่นใหม่ และเว้นด้านล่างไว้สำหรับสัญลักษณ์ควบคุมแผงจอ

ทางด้านหลังของตัวแผงจอเองก็มีการตกแต่งลวดลายที่เรามองว่า ค่อนข้างดูดี ไม่ก๊องแก๊ง ไม่ดูเป็นเกมมิ่งไป แต่ก็ยังไม่ได้ถึงขนาดเรียบแบบมินิมอลมากนัก เพราะตรงส่วนของวงกลมตรงกลางนั้น จะเป็นเอฟเฟกต์ไฟ RGB เปลี่ยนหมุนสีไปเรื่อย ๆ ถ้าใครที่วางจอชิดกับกำแพงที่เป็นสีขาวหน่อย ก็จะช่วยไฟตรงนี้สะท้อนออกมาให้สวยงามได้มากยิ่งขึ้นครับ ส่วนด้านบนก็จะเป็นรูสำหรับระบายความร้อนให้แผงจอ แม้จะไม่มีพัดลม แต่มันก็ไม่ใช่รูลำโพงนะ เผื่อบางท่านเข้าใจผิด เพราะรุ่นนี้ไม่ได้มีลำโพงในตัว

ที่ด้านใต้นั้นก็จะเป็นพอร์ตเชื่อมต่อต่าง ๆ ที่จัดเต็มมาให้เช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นพอร์ต DisplayPort จำนวน 2 พอร์ต และ HDMI อีกจำนวน 2 พอร์ต เรียกได้ว่าเหลือใช้เพียงพออย่างแน่นอน ถัดมาก็จะเป็นรู Audio สำหรับเสียบรูแจ๊คต่อลำโพงหรือหูฟัง และรู DC สำหรับเสียบสายอแดปเตอร์ให้ตัวจอ

อุปกรณ์ที่มีให้ในกล่องนั้น ก็จะมีขาตั้งจอพร้อมฐาน สาย DisplayPort จำนวน 1 เส้น น็อตสำหรับยึดขาตั้งเข้ากับตัวจอ และคู่มือการใช้งานทั่วไป

สำหรับจอตัวนี้สามารถรองรับขายึดจอรู VESA Mount ด้วยนะครับ ซึ่งเราทดลองใช้ขาจับจอของ DreamDesk แต่อาจจะติดปัญหาที่รูยึดน็อตนั้นจำเป็นจะต้องใช้กับน็อตที่แถมมากับตัวจอเท่านั้น เพราะรูที่เจาะสำหรับขันน็อตมาให้นั้นค่อนข้างตื้นไปนิด แต่ก็สามารถใช้จับยึดได้ปกติดี (สั่งซื้อขาตั้งจอของ DreamDesk ได้ที่ ลิงก์นี้)

ความประทับใจแรกสำหรับ IPASON E2728S-M ก็คือ การปรับปรุงในส่วนของขาตั้งจอ ที่ลองเอานิ้วเคาะดูแล้ว คือเป็นเหล็กทั้งชิ้นอย่างแน่นอน ค่อนข้างมีน้ำหนัก มั่นคง ไม่โครงเครง ที่ฐานขายื่นมียางรองกันลื่นด้วย และที่สำคัญคือติดตั้งง่าย พอเห็นวัสดุโดยรวมแบบนี้แล้ว ก็ค่อยรู้สึกว่ามันดูสมราคาขึ้นหน่อย ดูน่าใช้ขึ้นเยอะเลยครับ ซึ่งมันเทียบไม่ได้กับตัวที่เราเคยรีวิวไปก่อนหน้านี้ ที่เป็นพลาสติกโปร่ง ๆ ธรรมดา ไม่มีความมั่นคงเอาเสียเลย แต่ตัวนี้ปรับปรุงมาให้แล้วครับ
แต่สิ่งที่ยังคงต้องปรับปรุงต่อไปก็เห็นจะมีแต่สายอแดปเตอร์ต่อจอนี่แหละ ที่เรามองว่ามันน่าจะใช้เป็นสายไฟแบบมาตรฐานของจอมอนิเตอร์ทั่วไปได้แล้ว เพราะอย่างน้อยมันก็ยังสามารถหาซื้อสายที่แข็งแรงและยาวกว่านี้ได้อีกมากสำหรับคนที่ไม่ได้วางเคสคอมพิวเตอร์ใกล้ ๆ จอ อันนี้ที่แถมมาสายเล็กนิดเดียวเอง ยาวประมาณ 1.5 เมตรเท่านั้น

ERGONORMIC
นอกจากวัสดุที่เป็นเหล็ก ดูมั่นคง แข็งแรงทนทานขึ้นเยอะแล้วนั้น ฐานตัวนี้ก็ยังสามารถบิดหน้าจอหมุนซ้ายและขวา ปรับตำแหน่งหน้าจอขึ้นลงสูงต่ำไป ปรับแหงนหน้าหรือคว่ำหน้าลง และยังสามารถหมุนหน้าจอเป็นแนวตั้ง 90 องศา ได้อีกด้วย แม้มันจะไม่ได้สมูธลื่นไหลอะไรมากนัก แต่ก็พอใช้ได้ครับ เรียกว่าทาง DEVA IPASON ค่อนข้างที่จะรับฟังเสียงจากผู้บริโภค และปรับปรุงพัฒนาสินค้าอยู่ตลอด อันนี้ต้องขอชื่นชมครับ

ทางด้านของปุ่มควบคุม OSD และการสัมผัสในการกดนั้น ในตัวนี้แม้จะยังเป็นปุ่มที่ใช้กดใต้จอเหมือนกับรุ่นก่อนหน้า แต่บริเวณใต้แผงจอก็เป็นพลาสติกกรอบจอแบบเรียบ ๆ ไม่ได้มีการเล่นลวดลายขรุขระที่จะสร้างความสับสนในการสัมผัสอีกแล้ว ทำให้กดสัมผัสได้ง่ายขึ้น และสัญลักษณ์ OSD นั้น ก็ดูเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น การควบคุมก็จะมีเพียงแค่กดขึ้นหรือลงเท่านั้น และเรายังสามารถใช้ปุ่มลัดการในปรับเพิ่มลดความสว่างของหน้าจอได้ทันที แม้ปุ่มจะไม่ได้นิ่มหรือนุ่ม แต่ก็ไม่ได้กดยากหรือแข็งจนเกินไปนัก

OSD SETTINGS
ในส่วนของการปรับตั้งค่าของหน้าจอนั้น ในเมนูอันแรกจะเป็นส่วนของ Picture ที่ใช้ควบคุมความสว่าง คอนทราส โหมดหน้าจอแบบต่าง ๆ รวมถึงโหมด HDR ที่จำเป็นจะต้องเสียบกับสาย HDMI เท่านั้น จึงจะใช้ฟีเจอร์นี้ได้ และ DCR ที่จะเป็นการเพิ่มลดความสว่างขึ้นอยู่กับสิ่งที่แสดงอยู่บนหน้าจอ ซึ่งเราแนะนำให้ปิดไป

ส่วนของ Color นั้น ก็จะให้เราสามารถควบคุม White Point หรือบาลานซ์สีขาวของหน้าจอได้ที่เมนูนี้ทันที เหมาะสำหรับคนที่อยากจะปรับสีขาวของหน้าจอเป็นไปตามแบบที่ชอบ หรือใช้สำหรับในการทำ calibrate หน้าจอครับ

OSDSetting นั้น จะเป็นการปรับหน้าต่าง OSD ให้สามารถย้ายตำแหน่งไปตามจุดที่เราต้องการได้ เพราะค่าเริ่มต้นนั้น ตัว OSD อาจจะอยู่ตรงกลางจออยู่แล้ว แนะนำให้ย้ายมาทางขวาล่าง
ส่วนฟีเจอร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจก็อาจจะมีเพียงแค่ MPRT2 ที่เหมือนเป็นโหมด Overdrive ให้ค่า Response Time ต่ำลงได้ เหมาะสำหรับคนที่ใช้เล่นเกมเป็นหลัก เนื่องจากว่าเราเองก็ไม่มีเครื่องมือในการทดสอบ จึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นฟีเจอร์ที่ใช้ได้จริงหรือไม่ แต่ถ้าหากเปิดเปิดโหมด MPRT2 จะทำให้เราไม่สามารถควบคุมความสว่างของหน้าจอได้เลย นอกจากนั้นก็จะมีเพียงแค่ LowBlue ใช้ปรับหน้าจอให้ติดเหลือง ใช้อ่านตัวหนังสือให้สบายตาขึ้น (แล้วแต่ความชอบ) และโหมดสำหรับเปิดใช้ฟีเจอร์ Freesync

COLOR GAMUT
เนื่องจากจอตัวนี้คงเป็นหน้าจอที่แสดงสีได้เพียง sRGB เท่านั้น เมื่อเราใช้เครื่องมือในการทดสอบค่าความกว้างของสีแล้วนั้น ตัวจอนี้สามารถแสดงขอบเขตสีได้ถึง 109.8% sRGB (Volume) 75.7% AdobeRGB และ 77.8% DCI-P3 ตามลำดับ ซึ่งในแง่ของคนที่ใช้งานทั่วไป เล่นเกม หรือดูหนัง เสพคอนเทนต์เป็นหลักนั้น จอตัวนี้ก็สามารถแสดงสีสันในแบบของหน้าจอ sRGB ได้ค่อนข้างครบถ้วน ให้สีสันที่สวยงาม ดูรูปต่าง ๆ บนโซเชียลเน็ตเวิร์คที่แสดงผลเป็น sRGB ก็มองเห็นเฉดสีเดียวกันกับจออื่น ๆ ได้ดี

แต่สำหรับคนที่ต้องการจะนำหน้าจอไปใช้แต่งรูปจริงจังหรือเฉพาะทาง อาจจะยังไม่เพียงพอนัก เพราะจอตัวนี้ยังครอบคลุมในส่วนของ Adobe RGB ได้ไม่มากพอ (ราว 75.7% AdobeRGB) แต่ถ้าหากว่าเน้นทำ Color Profile เพียงแค่ sRGB ใช้อัปโหลดลงอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลก็ถือว่าพอทำได้ดี แต่ก็อาจจะต้องระวังในส่วนของการครอบคลุมของสี ที่เมื่อเราร่วมกับซอฟต์แวร์ที่รองรับ ICC Profile นั้น ตัวจอนี้ก็อาจจะถูกปรับลดสีให้เหลือเพียงแค่ 93.4% sRGB เท่านั้น แต่ก็อาจจะเป็นสีจริงที่หน้าจอสามารถแสดงได้อย่างถูกต้องครับ แต่ทั้งนี้ก็จำเป็นจะต้องทำการ calibrate หน้าจอก่อนเท่านั้น
CONNECTION
เนื่องจากจอตัวนี้จัดเต็มทางด้านพอร์ตเชื่อมต่อมาให้ถึง 4 พอร์ตด้วยกัน ได้แค่ Display Port สองพอร์ตและ HDMI อีกสองพอร์ต ทำให้คุณสามารถต่อเครื่องคอมพิวเตอร์สองระบบทั้ง Windows/Mac รวมถึงสามารถต่อเครื่องเล่นเกมอีก 2 เครื่อง อย่าง Playstation 5 และ Nintendo Switch พร้อมกันด้วยจอเดียวได้เลยทันที เพียงแค่กดปุ่ม E บนปุ่มควบคุมหน้าจอ และเลือกสลับโหมดได้เลยทันที โดยเฉพาะ PlayStation 5 ที่ตอนนี้มีการอัปเดตให้รองรับกับความละเอียด 2K 1440p แบบนี้แล้ว จอตัวนี้จึงได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ เลยครับ

ปัญหานึงที่เราพบเจอสำหรับการเสียบสาย Display Port (ณ วันที่เขียนรีวิวนี้) ก็คือ มันยังไม่สามารถปรับ Refresh Rate ให้รันได้เต็ม 165Hz จริง แม้ในซอฟต์แวร์จะขึ้นเป็น 165Hz แล้วก็ตาม แต่การแสดงผลกลับมีการกระตุกหรือแลคอย่างชัดเจน อันนี้อาจจะต้องรอการแก้ไขจากทาง DEVA IPASON อีกครั้งนึง หรือเลือกใช้ Refresh Rate แบบ 144Hz แก้ขัดไปก่อน
HDR Compatible
จอ E2728S-M ตัวนี้ ก็รองรับโหมด HDR เช่นกัน โดยจะเป็นมาตรฐาน HDR400 แต่โหมด HDR นั้น จะถูกกักไว้ให้เปิดใช้งานได้เฉพาะการเชื่อมต่อด้วยสาย HDMI เท่านั้น ซึ่งหากเราต่อเข้ากับเครื่อง PlayStation 5 ที่มีการเซ็ตระบบ HDR ไว้อยู่แล้ว ตัวจอก็จะ detect และเปิดระบบ HDR ให้เราทันที แต่สำหรับฝั่ง Windows จะต้องเข้ามากดเปิดเองทั้งบนตัวจอและใน Display Settings ของ Windows ครับ
ซึ่งจากที่เราใช้ probe เพื่อทดสอบทั้งความสว่างและบาลานซ์สีขาวนั้น เมื่อเปิดโหมด HDR บน Windows ความสว่างกลับลดลงมาเหลือเพียงแค่ 200 nits เท่านั้น (บนความสว่าง 100%) ซึ่งตามสเปคของ HDR400 ที่ระบุไว้นั้น กำหนดความสว่างขั้นต่ำที่ 400 nits รวมถึงขอบเขตสี 100% sRGB ระดับสีดำบนความสว่างสูงสุดที่ไม่เกิน 0.4 cd/m2 และเป็นพาเนล 8 bit ที่ซึ่งจอตัวนี้ก็สอบผ่านทั้งหมด ยกเว้นเพียงแค่ความสว่างสูงสุดเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าแอบน่าเสียดายเล็กน้อย

เราได้ทดลองตั้งกล่องถ่ายเปรียบเทียบระหว่างการเล่นเกม เทียบระหว่างเปิดและไม่เปิด HDR บนตัวเครื่อง PlayStation 5 นั้น กลับพบว่า หากเปิดโหมด HDR การแสดงสีสันมีความดรอปลง สีสันจืดลงราว 5-10% ในขณะที่ส่วนมืดและส่วนสว่างก็ไม่ได้ทำได้ดีขึ้นไปกว่าโหมด SDR ปกตินัก มิหนำซ้ำโหมด SDR กลับให้สีสันที่อิ่มกว่าโหมด HDR ทั้งในส่วนมืดที่ก็ไม่ได้ดำจมและเป็นดำฝ้า หรือไฮไลท์ก็ไม่ได้ฟุ้งจนมองไม่เห็น เรามองว่าขอบเขตสีของหน้าจออาจจะยังไม่ได้กว้างมากถึงระดับ DCI-P3 ที่จะทำให้มี Dynamic Range ทั้งในส่วนมืดและส่วนสว่างได้ดีกว่านี้
ในความเห็นของเรา แม้จอตัวนี้จะมีโหมด HDR มาให้ใช้ แต่ประสิทธิภาพในการแสดงสีสันและรายละเอียดนั้น อาจจะยังไม่ได้ดีมากนัก แม้สีดำก็อาจจะไม่ได้ทำให้รายละเอียดในส่วนเงานั้นจมหายไป แต่หากมองภาพรวมแล้ว โหมด SDR นั้นก็อาจจะแสดงสีสันและรายละเอียดที่เต็มอรรถรสมากกว่า อันนี้ก็แล้วแต่ความชอบ และต้องไปลองพิสูจน์ด้วยตาของตัวเองแล้วกันครับ


VIEW ANGLE
จอตัวนี้เป็นพาเนล IPS ที่โดนเด่นในเรื่องของมุมมองกว้างอยู่แล้ว จากที่เราทดสอบนั้นพบว่า มุมมองรับชมภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี มีการเปลี่ยนสีของมุมมองค่อนข้างน้อยมาก สกินโทนจากในรูปตัวอย่างก็เปลี่ยนสีน้อยลงมาก สีดำมีความเปลี่ยนแปลงเป็นสีเทาบ้างเล็กน้อย ไม่ว่าจะจากทั้งมุมมองด้านซ้ายและขวา หรือมุมเฉียงจากด้านบน มีเพียงแค่ความสว่างขององศาที่ลดลงเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ

UNIFORMITY
ในการทดสอบค่า Uniformity หรือการทดสอบความสม่ำเสมอของแสงบนหน้าจอนั้นเราจะทดสอบด้วยแพทช์สีขาว เพื่อหาความสม่ำเสมอของแสงบนหน้าจอ แพทส์สีเทากลาง เพื่อดูความเข้มและความสม่ำเสมอของสีเทา และแพทช์สีดำ เพื่อดูระดับความดำสนิทและแสงรั่วต่าง ๆ ต่างขอบจอ
แจ้งก่อนว่าในรูปตัวอย่างของการทดสอบนี้ อาจจะไม่เหมือนกับที่สายตาจริงมองบนหน้าจอ แต่เราพยามปรับรูปให้ใกล้เคียงเท่าที่ตาเราเห็นมากที่สุด ใช้เครื่องมือ X-Rite i1 ในการทดสอบจุดบนหน้าจอทั้งหมด 81 จุด (9X9) เพื่อหาความสม่ำเสมอของแสงอย่างละเอียด แม้ในการใช้งานจริงนั้น สายตาของเราอาจจะไม่ได้เห็นชัดเจนมากนัก แต่เซ็นเซอร์ก็ยังช่วยบอกเราได้ว่า บริเวณไหนของหน้าจอที่ควรระมัดระวัง
ปล.ผลการทดสอบนี้ไม่สามารถใช้เป็นตัวอ้างอิงกับจอรุ่นเดียวกันในตัวอื่นๆ ได้ เราทำการทดสอบเพื่อให้ใช้ประกอบการรีวิวเท่านั้น ดาวน์โหลด์ไฟล์ผลทดสอบ https://shorturl.asia/YGfSj
White สีขาว (255, 255, 255) ตัวที่เราได้รับมาทดสอบนั้น ไม่พบเจอจุดหรือ dead pixel เมื่อเปิดพื้นสีขาวแต่อย่างใด ความสม่ำเสมอของแสงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแม้มองด้วยสายตาเปล่าสามารถมองเห็นถึงความไม่สม่ำเสมอของสีขาวโดยเฉพาะบริเวณด้านล่าง และตามขอบซ้ายและขวาของตัวแผงจอ

Neutral Gray สีเทากลาง (128, 128, 128) พบความไม่สม่ำเสมอของสีเทากลางโดยเฉพาะบริเวณขอบจอด้านมุมขวาบนที่จะเห็นเป็นรอยคลื่นสีเข้มมากกว่าตรงกลาง

Light Leak สีดำ (0, 0, 0) ตัวที่เราได้รับมาทดสอบนี้ สำหรับในแง่ของความรั่วของแสงแล้ว แทบไม่มีแสงรั่วแม้แต่จุดเดียว จะพอสังเกตุได้เพียงแค่บริเวณขอบมุมสุดด้านล่างฝั่งขวาที่จะเป็นแสงสีเหลืองอ่อน ๆ (ไม่ถึง 3%) ไม่พบเจอลำแสงพุ่งขึ้นมา หรือ Bright Pixel แม้แต่จุดเดียว

สรุปค่า Uniformity สำหรับจอตัวนี้ เราให้อยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ แม้อาจจะยังไม่เพอร์เฟคนัก แต่ในการใช้ทั่วไปนั้น แทบมองไม่เห็นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในส่วนของสีดำที่แม้ตัวจอจะเป็นพาเนล IPS แต่เมื่อเปิดความสว่างสูงสุด ตัวจอกลับให้ค่าสีดำที่ต่ำที่ระดับ 0.262 (cd/m2) แทบจะเทียบเท่าพาเนล VA บางรุ่นได้เลย
PICTURE QUALITY
หมวดนี้จะเป็นการทดสอบโหมดหน้าจอต่าง ๆ ที่มีมาให้บน OSD เพื่อให้เราได้รู้ว่า ในแต่ละโหมดนั้นจะมีการแสดงสีสันอย่างไร เพี้ยนแค่ไหน และควรต้องใช้โหมดอะไรดีที่สุด ในการทดสอบนั้น เราจะใช้เครื่องมือ Colorimeter ของ X-Rite วัดด้วยแพทช์สีต่าง ๆ บนค่าหน้าจอเดิม ๆ ที่เซ็ตจากโรงงาน
CCT = Correlated Color Temperature (K) อุณหภูมิสีหน้าจอ
Lm = Luminance (cd/m²) ความสว่างที่วัดได้ ยิ่งสูงยิ่งสว่างมาก
BL = Black Level (cd/m²) ระดับความสว่างของสีดำ ยิ่งต่ำยิ่งดำสนิทลง
dE = delta E ค่าความเพี้ยนของสีจากมาตรฐาน (ต่ำสุด/สูงสุด)
ผลการทดสอบของโหมดหน้าจอพรีเซ็ตต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
Standard mode: CCT 7220K, Lm 262.5, BL 0.226, dE 1.4/5.8
Photo mode: CCT 7264K, Lm 153.1, BL 0.182, dE 2.2/6.5
Game mode: CCT 7374K, Lm 297.5, BL 0.268, dE 1.1/5.5
Movie mode: CCT 7299K, Lm 220.5, BL 0.199, dE 1.4/5.8
FPS mode: CCT 6063K, Lm 302.5, BL 0.214, dE 5.1/9.0
RTS mode: CCT 6070K, Lm 294.3, BL 0.208, dE 5.1/9.0
และในหมวดของ User ที่เป็นโหมดค่าเริ่มต้น และให้เราทุกอย่างเองได้นั้น จากการทดสอบแพทช์สีตัวอย่าง 51 สี จะอยู่ที่ราว dE 2.4 และเพี้ยนสูงสุดที่ dE 6.7 ก็ยังจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่โอเค พอใช้งานได้ ไม่ได้เพี้ยนเละเทะ แต่อุณหภูสีหน้าจอจะออกไปทาง 7300K ที่ค่อนข้างติดอมฟ้า เราแนะนำว่าถ้าใช้งานทั่วไปนั้นก็ไม่จำเป็นต้องซีเรียสกับค่าความแม่นยำเหล่านี้ แต่ถ้าใช้งานด้านภาพและสีเป็นหลักนั้น ก็จำเป็นจะต้องทำ calibrate เพื่อให้ได้ค่ามาตรฐานที่ถูกต้องเท่านั้น
CALIBRATION & VERIFICATION
ในการทำ calibrate ของหน้าจอตัวนี้นั้น เราเลือกใช้ Correction แบบ White LED ที่ซึ่งเหมาะกับขอบเขตสีที่แสดงได้เพียง sRGB แบบจอตัวนี้เท่านั้น โดยพรีเซ็ตที่เราจะใช้ก็จะมีความสว่าง 120 cd/m2 และ Gamma 2.2 เพื่อทำโปรไฟล์ sRGB ให้เหมาะกับคาแรคเตอร์ของจอตัวนี้
โหมด User ที่เปิดให้สามารถปรับระดับความสม่ำเสมอของสีขาว White Point นั้น ก็สามารถปรับได้ง่าย เมนู OSD ไม่ได้น่าปวดหัวเหมือนจอรุ่นเก่าที่เราเคยทำรีวิวไว้ และสามารถลดความสว่างจาก 0% ถึง 100% ที่ปรับลดได้ลงถึงระดับ 70 nits ซึ่งถือว่าจอตัวนี้สามารถควบคุมความสว่างได้ตามมาตรฐานจอทั่วไป ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
หลังจากที่เราทำคาลิเบรตด้วยแพทช์สีทั้งหมด 175 สีตัวอย่างแล้วนั้น เราได้ทำการทดสอบโปรไฟล์ Verification เพื่อดูว่าก่อนและหลังทำโปรไฟล์นั้น หน้าจอแสดงสีได้ดีกว่าเดิมแค่ไหน และจากตารางผลทดสอบนั้นจะเห็นว่า White Point อยู่ที่ราว dE 0.76 ความเพี้ยนโดยรวมของสีอยู่ที่ dE 0.29 สูงสุด dE 1.32 (สีดำ) ซึ่งถือว่าอยู่ในกณฑ์ที่ดีมาก ๆ สามารถนำจอตัวนี้ไปใช้งานด้านภาพและสีบนมาตรฐาน sRGB ได้เลยทันที




CONCLUSION
สำหรับเจ้า IPASON E2728S-M ที่ทาง RIPS COMP ได้รับมารีวิวนั้น ต้องบอกว่าค่อนข้างประทับใจในหลายจุด เพราะยิ่งเมื่อมีตัวเปรียบเทียบกับจอ 4K ที่เคยเขียนรีวิวไปก่อนหน้านี้ E2728S-M ถือว่าเป็นการปรับปรุงจุดอ่อนหลาย ๆ อย่างมาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องของดีไซน์ วัสดุ สัมผัสการควบคุมแผงจอ คุณภาพการแสดงสี ระดับคอนทราสที่ดีมาก รวมถึงสะดวกในการทำปรับจูน calibrate อีกด้วย แม้ในตัวที่เราได้รับมารีวิวนั้น จะยังมีปัญหาในแง่ของการปรับ Refresh Rate ให้แสดงผลเป็น 165Hz ยังไม่ได้ แต่คิดว่าจุดนี้น่าจะแก้ไขได้ด้วยการอัปเดตเฟิร์มแวร์ในอนาคต เรื่องนี้ก็อยู่ที่ว่าทาง DEVA IPASON จะแก้ไขอย่างไร แต่โดยรวมก็ยังถือว่าเป็นจอ 2K ขนาด 27 นิ้ว ที่คุ้มค่า และค่อนข้างครบครันตัวหนึ่งในตลาดประเทศไทย ณ เวลานี้เลยครับ
Laptop & Display Calibration / Writer / Owner และทำทุกสิ่งอย่างในนาม RIPS COMP