REVIEW จอมอนิเตอร์ IPASON E2728U-Z จอ 4K UHD IPS ที่คุ้มค่าที่สุดในราคาไม่เกินหกพันบาท

IPASON E2728U-Z จอมอนิเตอร์ขนาด 27 นิ้วจากทาง DEVA IPASON ที่ได้ทั้งความละเอียดสูงถึง 4K UHD พาเนล IPS เกรดดี และแสดงสีสันได้กว้างระดับ Wide gamut นับว่าเป็นหนึ่งในจอมอนิเตอร์ที่น่าจับตามองที่สุดในตลาดไทย ณ เวลานี้ ด้วยราคาค่าตัวเพียง 5,980 บาท เท่านั้น

ลองเช็คราคาปัจจุบัน https://shope.ee/5pYTsU8IVM

ก่อนเราจะเริ่มบทความรีวิวนี้ ทาง RIPSCOMP.NET ต้องขอขอบพระคุณทาง DEVA IPASON ที่ส่งจอมาให้เราได้ทำการทดสอบอย่างอิสระโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทำให้เราสามารถทดสอบทุกจุดได้อย่างเต็มที่ครับ

จุดเด่น

– พาเนล IPS คุณภาพสูง แสดงขอบเขตสีได้กว้างระดับ 95% DCI-P3

– Text Clarity ตัวหนังสือคมชัดมาก อ่านแล้วดูสบายตา

– Uniformity อยู่ในเกณฑ์ที่ดี (ในตัวที่เราได้รับมารีวิว)

– Contrast อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ให้ค่าสีดำที่ต่ำกว่าจอบางรุ่นเมื่อเปิดความสว่างสูงสุด

– ความสว่างสูงราว 350 nits สามารถใช้ต้านแสงสะท้อนได้ดีในระดับนึง

– มีตัวเลือกในการปรับค่า Gamma ทำให้การทำคาลิเบรตแม่นยำขึ้น

– รองรับ Adaptive Sync

จุดที่ต้องปรับปรุง

– Ergonomic ไม่ดี ปรับตัวจอขึ้นลงหรือหมุนไม่ได้ ทำได้เพียงเงยหน้าจอขึ้นหรือลงเท่านั้น

– วัสดุและดีไซน์ยังธรรมดามาก ๆ เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นในราคาระดับเดียวกัน

– ปุ่ม OSD บังคับยาก สัมผัสการใช้งานไม่ค่อยดี ใช้นิ้วกดแล้วสับสน

– ไม่มีลำโพงในตัว

– มีแถมแค่สาย DisplayPort เพียงเส้นเดียว ไม่มีสาย HDMI แถมมาให้ด้วย

– ไม่มีโหมดควบคุม sRGB ทำให้หน้าจอแสดงสีสันได้จัดจ้านตลอดเวลา

– ไม่รองรับ HDR

– ไม่รองรับ G-Sync

SPECIFICATION

– ขนาด 27” 4K UHD (3840×2160) 16:9 163 ppi

– พาเนล IPS (จากผู้ผลิต BOE)

– พื้นผิวหน้าจอด้าน กันสะท้อนแสง (3H)

– Peak Brightness 350 (cd/m2)

– Contrast 1150:1 (Static)

– Black Level 0.27 (cd/m2)

– Refresh Rate 60Hz

– มุมมองกว้าง 178° (H), 178° (V)

– ขอบเขตสี 134% sRGB, 92.4% AdobeRGB, 95% DCI-P3

– รองรับ Adaptive Sync

– พอร์ต DisplayPort 1.2 (x1), HDMI 2.0 (x1), HDMI 1.4 (x2), Mic

– น้ำหนัก 4.1 กิโลกรัม

– การรับประกัน 3 ปี จากทาง DEVA

DESIGN

ก่อนที่จะไปดูทางด้านดีไซน์ตัวจอโดยรวมนั้น เรามาเริ่มกันที่อุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่องกันก่อน นอกจากแผงจอขนาดใหญ่แล้วเท่านั้น ก็จะมีขาตั้งจอ แท่นเสียบขาตั้ง อแดปเตอร์ น็อตสำหรับขันน็อตเข้าที่ขาจอ สาย DisplayPort แอบน่าเสียดายที่ไม่มีแถมสาย HDMI มาให้สักเส้น สำหรับใครที่ตั้งใจจะซื้อจอตัวนี้ไปเสียบกับโน้ตบุ๊กเป็นหลัก ก็อาจจะต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อซื้อสาย HDMI ต่างหากอีกทีนึง

แนะนำสาย HDMI 2.0 ของ Ugreen https://shope.ee/4Kjg6OoAqG

ในการติดตั้งขาตั้งจอนั้นก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรนัก เพียงแค่จับขาตั้งจอมาเสียบที่แท่นวางจอให้ลงสลัก จากนั้นให้ตัวแง่งเหล็กประกบเข้ามาที่แผงหลังจอ แต่สิ่งที่อยากติก็คือ คุณจำเป็นจะต้องมีไขควงสักตัวในการประกอบขาตั้งจอด้วย เพราะมันไม่ได้เป็นแบบสลักที่เสียบแล้วดันล็อคเข้าพร้อมยกมาวางตั้งใช้งานแบบจอทั่วไป แต่มันจะต้องขันน็อตอีก 2 ตัวที่รูด้านล่าง ไม่อย่างนั้นจะถือว่าติดตั้งได้ไม่สมบูรณ์ (ใครที่ต้องการจะถอดจอเผื่อพกพาไปใช้นอกสถานที่ อย่าลืมพกไขควงไปด้วยล่ะ) แต่ถ้าหากว่าไม่อยากใช้ขาตั้งจอของมัน อยากเสียบจอเข้ากับขายึดกับโต๊ะดี ๆ จอตัวนี้มีรูที่รองรับ VESA Mount ตามมาตรฐานด้วยครับ

ตัววัสดุและดีไซน์ของเจ้าจอ IPASON E2728U-Z ตั้งแต่ที่เราเริ่มแกะกล่องออกมาจนประกอบเสร็จสิ้น เสียบสายพร้อมใช้งานนั้น ต้องบอกว่า IPASON E2728U-Z หน้าตาโดยรวมจัดว่าธรรมดามาก ๆ ด้วยความที่มันเป็นวัสดุพลาสติกสีดำด้าน หน้าจอแบน ไม่มีดีไซน์การลูกเล่นอะไรให้ดูโดดเด่นว่าเป็นจอประเภทเล่นเกมหรือจอทำงานแต่อย่างใด มันเรียบไปหมด รวมถึงโลโก้ IPASON ตัวหนังสือสีดำในกรอบสีขาว มาพร้อมตัวหนังสือจีน ซึ่งเราเข้าใจว่าในมุมมองของตลาดไทยแล้วนั้นอาจจะยังเป็นชื่อที่ใหม่อยู่ แต่โลโก้ของมันไม่น่ามองเอาเสียเลย ยิ่งใครที่ชอบแบบยึดเรื่องความสวยงาม หรือเอาไว้ประดับโต๊ะให้ดูหรูหราด้วยแล้ว อาจจะไม่ชอบเอาอย่างมาก ๆ

ทางด้านหลังของแผงจอนั้นก็ยิ่งเด่นชัดกับโลโก้ภาษาจีนยิ่งขึ้นไปอีก แม้มันไม่ใช่มุมที่เอาไว้โชว์ใครนัก แต่เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นที่ดูมีความใส่ใจในลูกเล่นให้รูปลักษณ์มันโดดเด่นในราคาเดียวกันแล้ว ผมคิดว่าต้องมีหลายคนที่ออกจะลังเลว่าจะซื้อจอตัวนี้เพียงเพราะโลโก้และดีไซน์ของมันอย่างแน่นอน

ซูมให้ดูกันชัด ๆ อีกรอบ กับโลโก้ IPASON พร้อมภาษาจีน

ส่วนของพอร์ตเชื่อมต่อนั้นจะอยู่ที่ด้านหลังของตัวจอตรงกลางพอดีกับขาจอ มาพร้อมกับรูเสียบสาย DC พอร์ต DisplayPort 1.2 ตามด้วยพอร์ต HDMI 2.0 และ 1.4 เนื่องจากว่าจอตัวนี้ไม่มีลำโพงในตัวมาให้ มีแต่รูแจ็คเสียบหูฟัง 3.5 มม. เท่านั้น

ERGONOMIC

ด้านใต้ตัวแผงจอจะเป็นปุ่ม OSD ที่ใช้ควบคุมแผงจอนั้น ตัวปุ่มมันไม่ได้นูนออกมาให้เด่นชัดนัก แต่มันกลับกลายเป็นข้อเสียอย่างร้ายแรง เพราะด้วยความที่บริเวณรอบ ๆ ปุ่มนั้นไม่ได้เรียบเหมือนกรอบพลาสติกส่วนอื่น แต่มันทำเป็นรูช่อง ๆ ซึ่งต้องบอกว่าในการสัมผัสและการใช้งานจริงนั้น มันน่าปวดหัวมาก ๆ คือเมื่อเราเอานิ้วสัมผัสแล้วกลับงงมากว่าอันไหนคือปุ่ม อันไหนคือกรอบบอดี้ กดผิดอยู่บ่อยมาก

นอกจากนั้นที่ปุ่ม Power เปิดปิดจอ ยังมีไฟ LED สีน้ำเงินเพื่อแสดงให้เห็นว่า หน้าจอกำลังเปิดอยู่ และจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เมื่อเราปิดเครื่องหรือไม่ได้ใช้งาน ส่วนตัวเรามองว่าไฟมันสว่างไปนิดนึง ใครที่ใช้โต๊ะสีขาว และชอบปิดไฟในห้องจนมืดนั้น ไฟ LED ตัวนี้อาจรบกวนสายตาคุณได้ (แนะนำให้หาเทปดำมาปิด)

สัญลักษณ์ OSD ที่สกรีนเป็นตัวหนังสือสีขาวก็ระบุมาได้น่าปวดหัวขึ้นไปอีก โดยปุ่ม M นั้น คือปุ่มเมนู ที่ใช้แทนคำสั่ง Yes ได้ด้วย แต่เจ้าปุ่มซ้ายและขวานี่แหละคือตัวปัญหา เพราะในการควบคุมจริงนั้น เมนูมันเป็นแบบขึ้นและลง มันทำให้เราสับสนบ่อยมากว่าจะต้องกดปุ่มซ้ายหรือขวา สลับมั่วกันไปหมด

ส่วนปุ่ม E ใช้เป็นปุ่ม No หรือ Back เพื่อปิด OSD แต่ถ้าหากว่ากดปุ่ม E ตัวนี้เฉย ๆ มันกลับแสดงเป้าเล็งยิงขึ้นมาบนหน้าจอ คือผมคิดว่าเป็นฟีเจอร์ที่ไร้ประโยชน์เอามาก ๆ และน่าเสียดายที่มันก็เปลี่ยนปุ่มลัดตรงนี้ไม่ได้เลย

ทางด้านการปรับองศาการใช้งานของตัวหน้าจอนั้น จอตัวนี้ทำได้เพียงแค่เงยหน้าจอขึ้นและคว่ำลงเท่านั้น ไม่สามารถจับหมุนเป็นแนวตั้ง 90 องศาได้ และไม่สามารถปรับความสูงต่ำของหน้าจอได้ และด้วยความมันเป็นฐานแบบสี่เหลี่ยมธรรมดา ตัวขายึดเป็นพลาสติกโปร่ง ๆ ด้านในที่เบามาก ดูไม่มั่นคงหรือแข็งแรง ทำให้หากขยับโต๊ะเพียงนิดเดียว หน้าจอก็สั่นไปมาได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้ถึงกับจะทำให้หน้าจอล้มได้ง่ายนัก แนะนำว่าให้หาขาตั้งจอแบบยึดหนีบกับโต๊ะมาต่อเพิ่มเอาจะดีกว่า

แนะนำขายึดกับโต๊ะราคาย่อมเยาว์ https://shope.ee/5pYTsU8IVM

OSD SETTINGS

ทางด้านการปรับตั้งค่าบนแผงจอนั้น เมื่อเรากดปุ่ม M ที่ใต้จอ เมนูแรกเราจะพบกับ Input Source ที่จะแสดงให้เราเห็นว่า จอตัวนี้มีพอร์ตให้เสียบได้ถึง 4 พอร์ตด้วยกัน ใครที่ใช้ต่อกับ Desktop PC นั้น แนะนำให้เสียบกับพอร์ต DP (DisplayPort) เท่านั้น เพื่อให้ปล่อยสัญญาณภาพได้ประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ตัวเลือก HDMI (2.0) นั้น ยังสามารถเอาไว้ต่อกับโน้ตบุ๊ก แมคบุค หรือแม้กระทั่งเครื่องเกม Play Station/Xbox/Nintendo Switch ได้อีกด้วย

ปัญหาที่เราเจอเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการใช้งานจริงนั้น จะมีอย่างเช่นหากเสียบพอร์ต DP ไว้อยู่ และมีการสลับไปเสียบกับเครื่องอื่น หรือสลับไปใช้พอร์ต HDMI แทน โดยที่ไม่ได้เข้ามาเลือกในหน้า OSD ตัวหน้าจอจะดำมืดไปเลย ไม่มีการ Auto Detect ว่าเราเสียบกับอุปกรณ์ใดแทนอยู่ และขณะที่หน้าจอดำอยู่นั้น ก็ไม่สามารถเรียกปุ่ม OSD นี้ขึ้นมาควบคุมได้ จะต้องใช้การปิดหน้าจอไปก่อน และเสียบสายใหม่ ซึ่งมันแอบน่าหงุดหงิดเล็กน้อย แต่คิดว่าปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการอัปเดตเฟิร์มแวร์จากผู้ผลิต (ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีหรือเปล่า)

ค่าความสว่างเริ่มต้นนั้นจะอยู่ที่ 90% หรือราว 290 nits ซึ่งถือว่าสว่างในเกณฑ์กลาง ๆ ส่วนของค่า Contrast นั้นไม่แนะนำให้ไปยุ่ง ส่วน BackCoverLight เราเข้าใจว่าน่าจะเป็นตัวควบคุมเอฟเฟกต์แสงไฟที่แผงหลังจอ แต่จอตัวนี้ก็กลับไม่ได้มีลูกเล่นแบบนั้น

เมนูถัดมาจะเป็นหมวด Color Settings ที่เราสามารถปรับโหมดหน้าจอหรือพรีเซ็ตที่มีเตรียมไว้ให้ รวมถึง Color Temperature ที่เราสามารถปรับจูนอุณหภูสิสีขาวของหน้าจอได้ และค่า Gamma ที่เราจะมาพูดถึงจุดนี้กันในภายหลัง

หมวด Picture Quality Settings นั้น มีให้เราปรับ Response Time ได้ ซึ่งอาจจะเหมาะสำหรับคนที่เล่นเกมที่น่าจะช่วยให้การตอบสนองหรือการเปลี่ยนสีของเม็ดพิกเซลทำได้รวดเร็วมากขึ้น แม้ในสเปคจะระบุมาว่าเป็น 5ms (GTG) ก็ตาม แต่เราไม่มีเครื่องมือในทดสอบค่า Response Time ที่จอทำได้จริงๆ ทำให้เราไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะเห็นผลในการใช้งานจริงหรือเปล่า

สุดท้ายจะเป็นหมวด Other มีฟังก์ชั่น FreeSync (Adaptive Sync) มาให้ด้วย อันนี้น่าจะตอบโจทย์สำหรับสายเล่นเกมที่ใช้การ์ดจอ AMD เป็นหลักด้วยครับ เพื่อทำให้ภาพสมูธขึ้น และไม่ฉีกขาด แม้ในสเปคที่ระบุไว้ว่ารองรับ G-SYNC ด้วย แต่จากที่เราลองทดลองดูแล้ว ตัวจอตัวนี้กลับไม่ได้รองรับ

COLOR GAMUT

หลังจากที่เราได้ทำการทดสอบในเรื่องของความสามารถในการแสดงสีสันของหน้าจอแล้วนั้น IPASON E2727U อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก สามารถแสดงสีสันได้ที่ระดับ 92% DCI-P3 (Coverage) ถือว่าจอตัวนี้เป็นจอประเภท Wide Gamut ที่สามารถแสดงสีสันได้กว้างมาก ๆ แม้จอตัวนี้จะได้ค่า DCI-P3 เยอะก็จริง แต่ค่า AdobeRGB นั้นกลับทำได้เพียง 84% เท่านั้น ซึ่งเรามองว่ามันอาจจะเป็นจอที่เหมาะแก่การเสพคอนเทนต์เป็นหลัก เน้นเล่นเกมให้สีสันที่สดใสจัดจ้านมาก หรือใช้แต่งรูป เกรดสีวิดีโอก็ยังได้ แต่ในแง่ของคนที่จะใช้ทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์หรือแต่งรูประดับมืออาชีพ อาจจะยังไม่เหมาะนัก เพราะจอตัวนี้ยังครอบคลุมในส่วนของ Adobe RGB ได้ไม่มากพอ

CONNECTION

พอร์ต HDMI 2.0 / 1.4 ที่มีมาให้นั้น เหมาะสำหรับการนำไปใช้ต่อกับโน้ตบุ๊กไว้เป็นจอแยก หรือการต่อเข้ากับเครื่องเล่นเกม ในกรณีที่คุณมีเพียงแค่โน้ตบุ๊กตัวเดียว และมีเครื่องเล่นเกมอย่าง Play Station การที่มีพอร์ตสำรองเผื่อมาให้ถึงสามพอร์ตนั้นถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานมาก ๆ เพียงแค่สลับ Input Source บน OSD เท่านั้น

ในแง่ของการเล่นเกม เมื่อเราเสียบจอตัวนี้เข้ากับเครื่อง Play Station 5 นั้น ตัวเครื่องก็ตรวจพบสัญญาณหน้าจอ และเซ็ตความละเอียดของ Output มาเป็นที่ 4k 2160p/60Hz ได้เลยทันที ภาพสวยคมชัด

ซึ่งน่าเสียดายที่จอตัวนี้เองไม่ได้รองรับระบบ HDR ไม่อย่างนั้นมันจะสมบูรณ์แบบกว่านี้มาก ๆ แต่โดยรวมการแสดงผลแบบ SDR นั้น ก็ยังให้สีสันที่สดใสจัดจ้าน และให้คอนทราสดีอยู่แล้ว เนื่องด้วยค่าสีที่ตัวจอแสดงได้สูงสุดที่ 95% DCI-P3 (Volume) นั่นเอง

แม้เราไม่มีเครื่องมือในการทดสอบทั้ง Input Lag และ Response Time นั้น เราจึงไม่สามารถทดสอบความรวดเร็วในการตอบสนองของเม็ดพิกเซลได้ในบทความรีวิวนี้ แต่ด้วยความที่มันเป็นจอมอนิเตอร์นั้น เรามองว่าในแง่ของ Input Lag นั้น น่าจะทำได้ดีกว่าการต่อเครื่องเล่นเกมเข้ากับจอทีวีในบางรุ่นอย่างแน่นอน

ส่วนการเชื่อมต่อกับโน้ตบุ๊กนั้น เครื่องที่เราใช้ทดสอบจะเป็น ASUS TUF GAMING FX505DU ซึ่งมีพอร์ต Output เป็น HDMI 2.0 อยู่แล้ว แต่ในการทดสอบนั้นเรากลับพบว่า ตัวจอแสดงความละเอียดได้เต็มที่ 3840×2160 จริง แต่ Refresh Rate กลับถูกลดลงเหลือแค่ 30Hz เท่านั้น แม้เราลองเปลี่ยนสายที่เป็น HDMI 2.0 แล้วก็ยังไม่สามารถให้มันแสดง Refresh Rate ได้ที่ 60Hz อันนี้เราไม่แน่ใจว่าเป็นพอร์ตตัวเครื่องของเราเอง หรือว่าที่เป็นที่เฟิร์มแวร์ตัวจอ

รวมถึงใน Specsheet ที่เราได้รับนั้น มีระบุว่าเป็นจอพาเนล 10-bit ด้วย แต่จากที่เราทดลองเสียบทั้งสาย DisplayPort และ HDMI มันก็แสดงผลเพียงแค่ 8-bit เท่านั้น ซึ่งน่าเสียดาย

VIEW ANGLE

แม้จอตัวนี้จะเป็นพาเนล IPS ที่โดนเด่นในเรื่องของมุมมองกว้างอยู่แล้ว แต่จากที่เราทดสอบนั้นพบว่า หากเริ่มมีการขยับหน้าจอเอียงจนถึงที่ระดับ 45 องศานั้น หน้าจอแสดงผลจะเริ่มเห็นคอนทราสที่ไม่ค่อยดีนัก สีดำจะเริ่มออกเป็นฝ้า สกินโทนซีดลง องศาของความสว่างลดลง และยิ่งเมื่อมองจากมุมอื่นอย่างมุมเฉียงจากด้านบน ตัวจอก็จะยิ่งเห็นเป็นฝ้าสีเทาได้อย่างชัดเจนมาก

REFLECTION

เนื่องจากว่าจอตัวนี้เป็นพื้นผิวแบบด้าน (ความแข็ง 3H) สีสันอาจจะดูไม่ค่อยเงาวาววับแบบพวกจอ iMac ที่เป็นพื้นผิวแบบเงาสะท้อนกระจก และสีดำก็ดูไม่ได้ดำลึกนัก แต่ข้อดีคือมันลดแสงสะท้อนได้ดี ใช้งานนาน ๆ แล้วไม่ปวดตา และเหมาะกับงานแต่งรูปหรือทำสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่า

เราทดสอบเงาสะท้อนของพื้นผิวเมื่อปิดหน้าจอและใช้ไฟส่องเข้าไปที่หน้าจอโดยตรง จะพบว่าพื้นผิวด้านของจอตัวนี้จะช่วยกระจายแสงให้ดูเป็นเม็ดทรายหยาบออกไป ซึ่งเป็นข้อดี บวกกับความสว่างสูงสุดระดับ 350 nits ที่หากเปิดสุด ถือว่าสามารถใช้ต้านแสงสะท้อนจากหลอดไฟภายในห้องได้ดีเพียงพออย่างแน่นอน

ส่วนการทดสอบการสะท้อนเงาของพื้นผิวนั้น เราจับมาวางเทียบกับจอ ALIENWARE AW3420DW ที่เราใช้อยู่ทุกวัน จะเห็นว่าจอของ AW3420DW จะยังคงเห็นเป็นเงาสะท้อนได้ชัดเจนกว่าจอของ IPASON E2728U-Z หรือในอีกความหมายก็คือ ยิ่งจอเห็นเป็นเงาสะท้อนน้อยกว่า ยิ่งลดสิ่งรบกวนสายตาได้ดีกว่า แต่ก็อาจจะแลกมาด้วยของคอนทราสต์บนหน้าจอที่จะดูทึบ ๆ ตามลงไปด้วยครับ (อันนี้แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล)

UNIFORMITY

ทีนี้มาถึงการทดสอบในแง่ของคุณภาพแผงจอกันบ้างครับ โดยเราจะเริ่มทดสอบค่า Uniformity หรือการทดสอบความสม่ำเสมอของแสงบนหน้าจอ ซึ่งเราจะทดสอบด้วยแพทช์สีขาว เพื่อหาความสม่ำเสมอของแสงบนหน้าจอ แพทส์สีเทากลาง เพื่อดูความเข้ม Dirty Effect และแพทช์สีดำ เพื่อดูระดับความดำสนิทและแสงรั่วต่าง ๆ ของหน้าจอ

แจ้งก่อนว่าในรูปตัวอย่างของการทดสอบนี้ อาจจะไม่เหมือนกับที่สายตาจริงมองบนหน้าจอ แต่เราพยามปรับรูปให้ใกล้เคียงกับที่ตาเรามองเห็นของจริงมากที่สุด ใช้เครื่องมือ X-Rite i1 ในการทดสอบจุดบนหน้าจอทั้งหมด 81 จุด (9X9) เพื่อหาความสม่ำเสมอของแสงอย่างละเอียด แม้ในการใช้งานจริงนั้น สายตาของเราอาจจะไม่ได้เห็นชัดเจนมากนัก แต่เซ็นเซอร์ก็ยังช่วยบอกเราได้ว่า บริเวณไหนของหน้าจอที่ควรระมัดระวัง

ปล.ผลการทดสอบนี้ไม่สามารถใช้เป็นตัวอ้างอิงกับจอรุ่นเดียวกันในตัวอื่นๆ ได้ เราทำการทดสอบเพื่อให้ใช้ประกอบการรีวิวเท่านั้น

White สีขาว (255, 255, 255) ตัวที่เราได้รับมาทดสอบนั้น ไม่พบเจอจุดหรือ dead pixel เมื่อเปิดพื้นสีขาวแต่อย่างใด ความสม่ำเสมอของแสงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแม้มองด้วยสายตาเปล่าอาจมองไม่ค่อยเห็น แต่แสงสว่างจะลดลงช่วงบริเวณขอบจอ

Neutral Gray สีเทากลาง (128, 128, 128) พบความไม่สม่ำเสมอของสีเทากลางโดยเฉพาะบริเวณขอบจอด้านซ้ายที่จะเห็นเป็นรอยคลื่นสีเข้มมากกว่าตรงกลาง หากเพ่งเล็งดี ๆ จะพบว่าสีเทาตรงกลางจะมีความติดแดงมากกว่าฝั่งขวามือสุดของจอ

Light Leak สีดำ (0, 0, 0) ตัวที่เราได้รับมาทดสอบนี้ สำหรับในแง่ของความรั่วของแสง (Backlight Bleeding) จัดว่าน้อยมาก ๆ จะมีเพียงแสงรั่วแค่บริเวณขอบมุมสุดด้านล่างของแต่ละฝั่งที่จะเป็นแสงสีเหลืองอ่อน ๆ ไม่พบเจอลำแสงพุ่งขึ้นมา หรือ Bright Pixel สักเม็ดแต่อย่างใด

ดาวน์โหลด์ไฟล์ผลทดสอบ https://shorturl.asia/jd0wv

สรุปค่า Uniformity สำหรับจอตัวนี้ เราให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีใช้ได้ โดยเฉพาะสีดำในตัวที่เราทดสอบนี้ พบแสงรั่วน้อยมาก ๆ แค่บริเวณมุมขอบจอเท่านั้น ซึ่งหากมองด้วยสายตาหรือใช้งานจริงนั้น แทบไม่ทันสังเกตุกันเลยทีเดียว และเมื่อเทียบกับจอแบรนด์อื่น ๆ ในราคาระดับเดียวกัน หรือแพงกว่าหน่อย จอตัวนี้กลับทำให้เราประหลาดใจ และประทับใจในเวลาเดียวกันว่า มันไม่ได้คุณภาพแย่อย่างที่คิดไว้แต่แรกเลย

PICTURE QUALITY

ต่อไปจะเป็นการทดสอบคุณภาพของหน้าจอด้วยพรีเซ็ตต่าง ๆ ที่มีไว้ให้บน OSD ซึ่งในการทดสอบนั้น เราจะใช้เครื่องมือ Colorimeter ของ X-Rite ในการทดสอบแพทช์สีต่าง ๆ เพื่อดูว่าหน้าจอตัวนี้มีความแม่นยำหรือความเพี้ยนที่ระดับใด 

โดยจอตัวนี้ที่เราได้รับมาทดสอบนั้น เราเริ่มทำการทดสอบโดยการวัดค่าอุณหภูมิสี ความสว่าง ระดับของสีดำ และค่าความต่างของสี ด้วยค่าเดิม ๆ หลังจากแกะกล่องเลย และเราได้ทำการทดสอบโหมดหรือพรีเซ็ตที่บน OSD มีเตรียมไว้ให้ใน Color Setting > Picture Mode โดยค่าเริ่มต้นที่ได้มาจะเป็นความสว่าง 90% ผลการทดสอบ มีดังต่อไปนี้ครับ

CCT = Correlated Color Temperature (K) อุณหภูมิสีหน้าจอ

Lm = Luminance (cd/m²) ความสว่างที่วัดได้ ยิ่งสูงยิ่งสว่างมาก

BL = Black Level (cd/m²) ระดับความสว่างของสีดำ ยิ่งต่ำยิ่งดำสนิทลง

dE = delta E ค่าความเพี้ยนของสีจากมาตรฐาน (ต่ำสุด/สูงสุด)

ผลการทดสอบของโหมดหน้าจอพรีเซ็ตต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

Standard mode: CCT 7079K, Lm 293.6, BL 0.278, dE 2.4/7.1

Photo mode: CCT 6669K, Lm 206.4, BL 0.182, dE 2.4/5.8

Game mode: CCT 6748K, Lm 312.9, BL 0.275, dE 2.4/6.2

Movie mode: CCT 6779K, Lm 334.5, BL 0.294, dE 2.5/6.4

FPS mode: CCT 6757K, Lm 312.2, BL 0.276, dE 3.4/8.5

RTS mode: CCT 6749K, Lm 305.5, BL 0.269, dE 2.3/5.7

ในค่าเริ่มต้นของหน้าจอ จะมาพร้อม Standard mode และ Color Temperature แบบ Warm พร้อมความสว่างที่ 90% ซึ่งจากที่เราได้ทดสอบไปด้านบนนั้นจะเห็นว่า ค่าความต่างของสีคำนวนจากตัวอย่างสี 51 สี จะอยู่ที่ราว dE 2.4 และเพี้ยนสูงสุดที่ dE 7.1 ซึ่งหมายความว่า หน้าจอเดิม ๆ ที่แกะกล่องออกมา และไม่ได้ทำคาลิเบรตเลย อยู่ในเกณฑ์กลาง ๆ ไปทางดี ไม่ได้เพี้ยนเละเทะ หรือสีตรงโอเคในระดับที่พร้อมใช้งานได้ในทันที (ซึ่งบางแบรนด์ที่มีการเคลมเรื่องจอสีตรงนั้น มักจะให้ค่า dE อยู่ที่ต่ำกว่า 2)

แม้ในโหมดพรีเซ็ตอื่น ๆ นั้น จะเห็นค่าเฉลี่ยความเพี้ยนที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก จะมีก็แต่เรื่องของความสว่างที่พุ่งสูงขึ้นไปที่ระดับ 334 nit บนโหมด Movie mode แต่ในเรื่องของอุณหภูมิสีนั้นไม่ได้แตกต่างกัน เราแนะนำให้ใช้โหมด Photo mode และใช้การขยับความสว่างตามที่ต้องการเอง และควรหลีกเลี่ยงโหมด FPS mode เพราะสีเพี้ยนที่สุด

ส่วนที่แอบรู้สึกน่าเสียดายก็มีเพียงแค่จอตัวนี้ไม่ได้มีโหมด sRGB Clamp หรือโหมดที่ใช้ควบคุมสีของหน้าจอให้ลดลงมาเหลือเพียงแค่ sRGB เนื่องจากจอประเภท Wide Gamut (ขอบเขตสีกว้าง) แบบนี้ หากไม่มีโหมด Clamp ในการควบคุมหรือปรับลดสีนั้น ในการใช้งานทั่วไป อาจจะทำให้หน้าจอแสดงสีสันที่จัดจ้านตลอดเวลาหากไม่ได้มีการพรีวิวรูปด้วยซอฟต์แวร์ที่รองรับ ICC Profile แต่เราก็เข้าใจ ณ จุดนี้ว่า เพราะมันไม่ใช่เป็นจอที่มีการทำคาลิเบรตจากโรงงานมาให้แต่แรก

นอกจากนี้ IPASON E2727U ตัวนี้ บน OSD ของหน้าจอมีให้เราเลือก Gamma ได้ด้วย โดยในตัวเลือกของ Gamma นั้นจะมีให้เลือกตั้งแต่ 1.8 ไปจนถึง 2.6 โดยค่า Gamma นี้จะมีผลในแง่ของสีเทาเป็นหลัก ถ้าหากลองปรับขยับขึ้นลงดู เราก็จะเห็นว่า สีเทาตั้งแต่ 1.8 นั้น จะดูสว่างขึ้น เมื่อขยับทีละเสต็บมาจนถึง 2.6 การไล่โทนของสีเทาที่เข้มขึ้นเรื่อย ๆ (โดยที่ไม่เกี่ยวกับค่าความสว่างหน้าจอ หรือคอนทราสแต่อย่างใด) และค่ามาตรฐานที่เราต้องการใช้ก็คือ 2.2 ซึ่งในขณะที่เรากำลังทำการทดสอบอยู่นั้น เราก็เกิดนึกสงสัยขึ้นมาในใจว่า ค่า Gamma ที่เซ็ตมาให้แต่ละอันจากโรงงานนั้นมันถูกต้องแน่หรือเปล่า? เราเลยได้ทำการทดสอบดังนี้ครับ

ในซอฟต์แวร์ DisplayCAL ที่เราใช้ทดสอบนั้น จะมีขั้นตอนการตรวจสอบหน้าจอโดยเฉพาะในส่วนของค่า Gamma ซึ่งจะสามารถทดสอบได้ทั้งหน้าจอที่ยังไม่ได้ทำคาลิเบรตรวมถึงหน้าจอที่ทำคาลิเบรตแล้ว โดยเราได้ทดลองค่า Gamma ทีละเสต็บตั้งแต่ค่า Gamma 1.8, 2.0, 2.2, 2.4 และ 2.6 และผลได้หลังจากไล่ทดสอบทีละเสต็บนั้น กลับกลายเป็นว่า “ไม่ตรงตามตัวเลขที่ระบุไว้เลย” ผลทดสอบมีดังต่อไปนี้

Gamma 1.8 ทดสอบจริงได้ 1.73

Gamma 2.0 ทดสอบจริงได้ 2.12

Gamma 2.2 ทดสอบจริงได้ 2.34

Gamma 2.4 ทดสอบจริงได้ 2.58

Gamma 2.6 ทดสอบจริงได้ 3.30

จากผลทดสอบตัวเลขนี้ ชี้ให้เราเห็นได้ถึงความคลาดเคลื่อนของค่าจากโรงงาน ซึ่งถ้าหากเราต้องการจะทำคาลิเบรตหน้าจอโดยยึดค่า Gamma 2.2 (ที่เป็นค่าเริ่มต้นของหน้าจอ) หรือใช้งานเดิม ๆ เลย จะเห็นได้ว่า ค่าจากโรงงานนั้น ไม่มีในตัวเลือกไหนที่แสดงออกมาเป็น 2.2 จริง ๆ วิธีการแก้ไขของเราก็คือ ทดสอบการทำคาลิเบรตโดยใช้การตั้งค่าบนหน้าจอทั้งตัวเลือก Gamma 2.0 และ 2.2 (เพราะทั้งสองตัวนี้อยู่ระหว่างกลาง) แล้วมาดูผลทดสอบหลังทำโปรไฟล์เสร็จอีกครั้งนึง เพื่อดูว่า ค่าไหนที่เหมาะสมหรือใกล้เคียงมาตรฐานมากที่สุด

โดยหลังจากที่ทำคาลิเบรตเสร็จแล้ว และทดสอบความถูกต้องของค่า Gamma ของหน้าจอหลังทำคาลิเบรตนั้น กลับพบว่า ตัวเลือก Gamma 2.0 แสดงผลได้ถูกต้องและใกล้เคียงมาตรฐาน 2.2 มากที่สุด โดยได้ค่า Gamma หลังจากปรับจูนแล้ว ได้ที่ 2.18 ซึ่งถือว่าใกล้เคียง 2.2 มาก ๆ เราจึงแนะนำว่า สำหรับจอตัวนี้ให้ปรับค่า Gamma ไว้ที่ 2.0 จะดีที่สุดครับ

สรุปในเรื่องของคุณภาพของสีสันเดิม ๆ หลังจากแกะกล่อง ส่วนตัวเราให้อยู่ในเกณฑ์ที่ “กลาง ๆ” สามารถพร้อมใช้งานได้เลยทันที เพราะความสามารถในการแสดงสีจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากอยู่แล้ว แต่ถ้ามีโอกาส และคุณเป็นคนที่จำเป็นจะต้องใช้หน้าจอในการทำงานด้านภาพและสี ก็ควรทำคาลิเบรตปรับจูนสีให้ได้มาตรฐานกลางมากที่สุด ส่วนคนที่จะซื้อจอไปใช้เล่นเกมดูหนัง อาจจะแต่งรูปนิด ๆ หน่อย ๆ จอตัวนี้ไม่ได้จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สีเพี้ยนถึงขั้นแย่แต่อย่างใดเลย

CALIBRATION & VERIFICATION

สำหรับคนที่ต้องการใช้จอตัวนี้ไปทำงานด้านภาพและสีนั้น การคาลิเบรตหน้าจอเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเด็ดขาด เพราะนอกจากมันจะช่วยปรับจูนสีให้จอตัวนี้สามารถแสดงสีสันได้แม่นยำ ถูกต้องตามมาตรฐานกลางแล้ว มันยังทำให้เราสามารถเทียบสีกับอุปกรณ์อื่นได้ง่ายขึ้น และลดเวลาในการแก้ไขงานลงได้มาก

หากผู้อ่านสนใจทำคาลิเบรตหน้าจอกับเรา คลิกที่ลิงก์นี้ ได้เลย

มาต่อกันที่ผลทดสอบของหน้าจอด้วยกระบวนการทำโปรไฟล์และการตรวจสอบโปรไฟล์ โดยพรีเซ็ตในการคาลิเบรตที่เราทำนี้ เราจะใช้ Correction ที่เหมาะกับขอบเขตสี P3 แบบนี้ และเซ็ตความสว่างที่ 160 nits (31%) รวมถึง Gamma 2.2 เพื่อทำโปรไฟล์ Display P3 ให้เหมาะกับคาแรคเตอร์ของจอตัวนี้

ในแง่ของการปรับระดับความสม่ำเสมอของสีขาว White Point นั้น เราจะสามารถปรับอุณหภูมิสีได้ที่โหมดหน้าจอ Color Temperature เราพบว่า จอตัวนี้มันปรับให้หาความบาลานซ์กันค่อนข้างยากไปนิด โดยเราจะต้องหมุนหาสีขาวให้ได้ตามพิกัดของ D65 มากที่สุด เพราะค่าเดิม ๆ บนความสว่างสูงสุดของจอนั้น จะได้ dE ที่ประมาณ 1.4 ซึ่งมันอยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ได้แล้ว แต่เมื่อเราต้องการให้ค่ามันต่ำที่สุด บนความสว่างที่ต่ำกว่านี้ มันจึงใช้เวลาค่อนข้างนานมาก และบวกกับข้อเสียอีกอย่างคือ หน้าจอตัวนี้แม้ความสว่างที่ต่ำที่สุด กลับทำความสว่างได้ต่ำเพียงแค่ 144 nits ไม่สามารถกดความสว่างให้ต่ำไปลงแตะที่ระดับ 70-80 nits ได้เลย ซึ่งไม่เหมาะสำหรับคนที่จะเอาไปทำสื่อสิ่งพิมพิ์อย่างมาก

อันนี้เป็นขั้นตอนที่เราปรับบาลานซ์ของสี R G B บนความสว่างที่ 160 nits ได้แล้ว เพื่อให้หน้าจอเป็นสีขาวที่สุดเท่าที่ตัวจอจะสามารถแสดงได้ ขั้นตอนนี้ไม่สามารถปรับเองได้ด้วยสายตาเปล่า จำเป็นจะต้องใช้เซ็นเซอร์เท่านั้น

หลังจากที่เราทำคาลิเบรตด้วยแพทช์สีทั้งหมด 175 สีตัวอย่างแล้วนั้น เราได้ทำการทดสอบโปรไฟล์ Verification เพื่อดูว่าก่อนและหลังทำโปรไฟล์นั้น หน้าจอแสดงสีได้ดีกว่าเดิมแค่ไหน และจากตารางผลทดสอบด้านล่างนี้จะเห็นว่า ก่อนทำโปรไฟล์หน้าจอจะแสดงสีได้เพี้ยนมาก โดย White Point จะอยู่ที่ราว dE 3.1 ความเพี้ยนโดยรวมของสีอยู่ที่ dE 2.43 สูงสุด dE 7.02 ส่วน ส่วนหลังจากทำโปรไฟล์ใหม่ ก็จะได้ White Point อยู่ที่ราว dE 0.18 ความเพี้ยนโดยรวมของสีอยู่ที่ dE 0.21 สูงสุด dE 0.89 ซึ่งถือว่าอยู่ในกณฑ์ที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ

CONCLUSION

สรุปโดยรวมกับหน้าจอ IPASON E2728U-Z ตัวนี้ จากที่เราได้ทดสอบมาทั้งหมดตลอด 4 วันเต็ม ๆ นั้น ต้องบอกว่า มันเป็นจอ 4K ขนาด 27 นิ้ว ที่คุ้มค่าราคาตัวมาก ๆ ในแง่ของถ้าคุณเป็นคนที่ต้องการซื้อหน้าจอเพื่อเน้นรีดประสิทธิภาพของแผงจอล้วน ๆ เพียงอย่างเดียว ได้จอความละเอียดสูงแบบ 4k จอคมชัดสบายตา เน้นสีสันที่จัดจ้าน สวยงาม ทำคาลิเบรตจอแล้วเอาไว้ใช้งานที่เน้นความแม่นยำมาก ๆ หรือจะเอาไว้ดูหนัง ต่อกับเครื่องเล่นเกมเป็นหลัก เพียงจ่ายเงินไม่ถึงหกพันบาทเท่านั้น แม้วัสดุและดีไซน์ของมันออกจะขี้เหร่ไปนิด แต่ถ้าคุณมองข้ามไปและรับในจุดนี้ได้ IPASON E2728U-Z คือจอที่เหมาะกับคุณอย่างมาก