เปลี่ยนจอใหม่ทั้งที ทำไมมีเงื่อนไขเยอะจัง? มาดูเหตุผลกัน ว่าทำไมเครื่องคุณถึงไม่รองรับ

สวัสดีผู้อ่านท่าน เชื่อว่าคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ อย่างน้อยจะต้องเป็นผู้ที่กำลังติดตาม RIPS COMP และสนใจเปลี่ยนจอโน้ตบุ๊กอยู่ด้วย สำหรับบทความนี้เราจะมาอธิบายถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่ทำให้เครื่องของคุณ ไม่รองรับการเปลี่ยนหน้าจอใหม่จากทางเรา

เกริ่นก่อนสำหรับผู้ที่มาใหม่ หรือพึ่งเริ่มศึกษาข้อมูลการเปลี่ยนหน้าจอโน้ตบุ๊กว่า โน้ตบุ๊กในปัจจุบันนี้ มีมากกว่า 80 โมเดล เป็นอย่างต่ำที่สามารถเปลี่ยนหน้าจอใหม่ได้ โดยพื้นฐานการเปลี่ยนหน้าจอนั้น ก็มาจากงานซ่อมนั่นเอง เช่น จอแตก จอเสีย ก็เป็นการเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นใหม่เข้าไปทดแทน แต่การเปลี่ยนจอใหม่ในความหมายของเรานั้น หมายความรวมไปถึง “การอัพเกรดหน้าจอ” ที่ทำให้หน้าจอแสดงผลที่คุณมองอยู่นั้น สามารถแสดงสีสันได้คมชัด สดสว่าง เห็นรายละเอียดได้ดีมากยิ่งขึ้น หรือถ้าเป็นรุ่นเกมมิ่งก็ทำให้รองรับ Refresh Rate สูงขึ้นเลยด้วยซ้ำ น่าสนใจใช่ไหมล่ะ?

ทีนี้มันมีเงื่อนไขอยู่ว่า รุ่นใดบ้างที่จะรองรับการเปลี่ยนจอ (สามารถดูวิธีการตรวจสอบได้ที่ ลิงก์นี้) แต่มันก็ไม่ได้ตอบคำถามที่ว่า แล้วมีเหตุผลหรือปัจจัยอะไรบ้างล่ะ ที่ทำให้รุ่นของเราถึงไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนจอได้ ทั้งๆ ที่เงื่อนไขก็อาจจะครบตามที่ต้องการแล้ว เรามาลองดูกัน

1. รุ่นของคุณมีสเปคที่เก่าเกินไปหรือเปล่า?

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและยอมรับให้ได้ เพราะว่าแผงหน้าจอรุ่นใหม่ๆ ที่เริ่มนำมาใช้เป็นมาตรฐานนั้น พึ่งจะเริ่มใช้กันช่วง CPU Intel Core i รุ่นที่ 4 นั่นเอง ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลายๆ อย่าง รวมไปถึงแผงหน้าจอเพื่อให้รองรับโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ที่มีความบางมากขึ้น รวมไปถึงการกินไฟที่ต่ำลงด้วย จึงต้องอาศัยการออกแบบแผงหน้าจอที่มีขนาดบางลง และเปลี่ยนพอร์ตการเชื่อมต่อใหม่ จากอินเตอร์เฟสแบบ LVDS เป็น eDP เพราะฉะนั้นโน้ตบุ๊กในบางรุ่นที่มีคาบเกี่ยวระหว่าง CPU รุ่นที่ 3 และ 4 นั้น จึงเป็นรุ่นที่มีความเสี่ยงสูงที่จะอัพเกรดจอใหม่ไม่ได้

2. ตัวเครื่องไม่ได้รองรับการแสดงผลหน้าจอที่ความละเอียด FULL HD

ปัญหาลำดับถัดมาจากเรื่องของแผงหน้าจอที่เปลี่ยนมาใช้แบบบางตั้งแต่ CPU รุ่นที่ 4 ที่เราว่าไป คือ ตัวระบบ BIOS ที่ทางโรงงานไม่ได้เซ็ตมาให้รุ่นนั้นๆ สามารถใช้จอ FULL HD 1920×1080 ได้ ปัญหานี้เท่าที่เราพยามทดลองมาเป็นสิบรุ่นคือ ไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้เลย เพราะเป็นการเซ็ต Whitelist ในระดับ BIOS ทำให้รายชื่อโมเดลจอที่ไม่ได้อยู่ตามที่กำหนดมา จะไม่สามารถใช้ได้ นอกจากจอความละเอียดเดิมเท่านั้น (ตรวจสอบรุ่นที่รองรับการอัพเกรดจอข้ามมาเป็น 1080p) ไม่ว่าจะใช้แผงจอเหมือนกัน พอร์ตเป็น eDP พินเท่ากัน แต่เมื่อเสียบติดตั้งแล้ว ตัวเครื่องจะแสดงอาการอยู่ 2 อย่างคือ 1. จอไม่ติด ไฟไม่เข้าจอ แต่เครื่องทำงานปกติ 2. เข้า Windows ได้ตามปกติ แต่หน้าจอมีการแบ่งเป็นสี่ส่วน และไม่สามารถรันเต็มจอ หรือเซ็ตความละเอียดที่ 1920×1080 ได้ (ความร้ายกาจของการเซ็ต Whitelist อีกแบบคือ ไม่สามารถปรับความสว่างขึ้นลงได้เลย)

3. ผู้ผลิตไม่ได้ออกแบบเครื่องมาให้สามารถใช้อะไหล่ทดแทนได้

ประเด็นนี้อาจจะครอบคลุมในส่วนของโน้ตบุ๊กตระกูลที่ใช้จอกระจกทั้งบาน หรือรุ่นทัชสกรีน เสียมากกว่า เนื่องจากรุ่นเหล่านั้นจะใช้การยึดแผงหน้าจอกับกระจกหน้าจอด้วยกาวให้เป็นชิ้นเดียวกัน จะด้วยเรื่องของความคงทนหรือดีไซน์ก็ตามแต่ รวมไปถึงพวกรุ่นดีไซน์แปลกๆ อย่าง จอพับ จอหมุน หรือแยกออกเป็นแท็บเล็ต รุ่นเหล่านี้ไม่สามารถเปลี่ยนจอ หรืออัพเกรดจอให้เป็นแบบอื่นได้อย่างแน่นอนครับ และแน่นอนว่า โน้ตบุ๊กตระกูล Macbook ก็ไม่สามารถเปลี่ยนจอแบบอื่นได้เช่นกัน

4. พอร์ตเชื่อมต่อคนละแบบกัน

เคสนี้อาจจะเป็นปัญหาที่พบเจอได้น้อยรุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นเฉพาะรุ่นที่จอเดิมเป็นความละเอียดแบบ 2K / 4K ที่จำเป็นต้องใช้หัวต่อขนาดที่ใหญ่กว่าอย่าง eDP แบบ 40 พิน เท่านั้น ซึ่งปัญหาที่เราพบเจอสำหรับรุ่นเหล่านี้ที่ต้องการเปลี่ยนจอใหม่นั้นคือ จะต้องทำการเปลี่ยนสายแพรใหม่เพื่อให้รองรับกับจอของเรา หรือจอทั่วไปที่ใช้มาตรฐาน eDP แบบ 30 พิน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร ต้องเสียค่าเปลี่ยนจอแล้ว ยังจะต้องเปลี่ยนสายอีก หรืออย่างในกรณีของโน้ตบุ๊กรุ่นขอบบางแบบใหม่ Slim Bezel ช่วงปี 2018-2019 ที่ยังมีหลายรุ่นที่มีปัญหาเรื่องการใช้พอร์ตไม่เหมือนกันในจอต่างโมเดลอย่างรุ่น 60Hz และ 144Hz ที่ไม่สามารถอัพเกรดข้ามกันมาได้เลยทันที เพราะปัญหาของการใช้พอร์ตไม่เหมือนกันนั่นเอง

5. เครื่องตรงตามคุณสมบัติทุกอย่าง แต่ก็ยังใช้จอ Refresh Rate สูงๆ ไม่ได้

เราเองทราบดีว่า ทุกคนอยากอิงคอนเซปต์เราที่ว่า “เปลี่ยนจอใหม่ทั้งที เอาให้ดีกว่าเดิมไปเลย” ก็เลยจะพุ่งเป้าไปที่ อยากเปลี่ยนจอ IPS 144Hz เท่านั้น แต่ตรงนี้เราอยากให้ดูในส่วนของสเปคเครื่องอีกทีก่อน เพราะตัวจอพาเนล 144Hz “อาจจะ” ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ในกรณีของโน้ตบุ๊กที่ 1. สเปคเครื่องรุ่นต่ำไป เช่น CPU รหัส U รุ่นประหยัดพลังงาน 2. แบตเตอร์รี่มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เสื่อมสภาพ หรือบวมมากแล้ว ทำให้การจ่ายไฟไม่เสถียรพอ อาจทำให้ภาพล้มขณะใช้งาน จึงจำเป็นใช้งานแบบเสียบสายชาร์จตลอดเวลา (ห้ามถอดออกเด็ดขาด) ส่วนนอกเหนือจากเงื่อนไขทั้งสองประการนี้ แนะนำให้ลองอ่าน บทความนี้ เราอธิบายไว้ค่อนข้างชัดเจนแล้วครับ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วบางคนอาจจะคิดในใจว่า “ทำไมมันยุ่งยากนัก” ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่เราพยามอธิบายไปข้างต้นนั้น เราอยากบอกว่า โน้ตบุ๊กสมัยนี้ที่รองรับการอัพเกรดจอได้นั้น ถือว่าเป็นการประนีประนอมที่สุดแล้ว เพราะถ้าเป็นอุปกรณ์แสดงผลอื่นๆ อย่างจอทีวี จอมอนิเตอร์ หรือจอมือถือ มันไม่มีการมาอัพเกรดจอ เปลี่ยนยกแผงโดยที่มันใส่กันได้เป๊ะแบบนี้ได้เลย และอย่าลืมนะครับว่า ถ้าโน้ตบุ๊กของคุณอยู่ในลิสต์ที่รองรับการเปลี่ยนจอได้ ถือว่าคุณโชคดีกว่าหลายคนมากแล้ว เพราะบางคนเสียเงินหลายหมื่น แต่ได้ใช้จอโน้ตบุ๊กที่มันไม่ตอบโจทย์การใช้งานเอาเสียเลย ครั้นจะขายทิ้งก็เจ็บตัวหนักมาก ต้องทนจ้องหน้าจอแบบนั้นไปตลอดอายุขัยของมัน

ซึ่งทาง RIPS COMP เองก็ใช้เวลามากว่า 4 ปี ในการทดสอบโน้ตบุ๊กรุ่นต่างๆ กว่า 80 โมเดลแล้ว ที่ยืนยันว่าสามารถเปลี่ยนหน้าจอได้ และคิดว่าก็น่าจะมีเพียงแค่เราเจ้าเดียวเท่านั้น ที่มุ่งเจาะลึกเฉพาะเรื่องของการอัพเกรดหน้าจอโน้ตบุ๊กอะไรแบบนี้ เราเลยสามารถถ่ายทอดความรู้เหล่านี้เพื่อให้คุณได้ตระหนักว่า อย่างน้อยคุณก็ยังคงมีทางเลือกเสริม และสุดท้าย เปลี่ยนจอใหม่ มีเงินอย่างเดียวไม่ได้ เครื่องต้องรองรับด้วย” ยังไงก็ฝากติดตามกันต่อไปด้วยนะครับ

RIPS COMP