ทดสอบหน้าจอโน้ตบุ๊ก ASUS TUF DASH F15 และการอัปเกรดหน้าจอใหม่

สำหรับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่อยู่ในช่วงราคาสองหมื่นบาทไปจนถึงสามหมื่นบาทปลาย ๆ ในปัจจุบันนั้น ต่างเลือกใช้ชนิดหน้าจอประเภท IPS (In-Plane Switching) หรือลักษณะของจอ LCD ประเภทหนึ่งที่ให้ความคมชัด สีสันสวยงาม และมุมมองกว้าง เรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานในปัจจุบันที่โน้ตบุ๊กแทบทุกรุ่นจะต้องใช้จอประเภทนี้แล้วทั้งนั้น แต่สิ่งที่หลายคนยังไม่ทราบมาก่อนสำหรับหน้าจอประเภทนี้ นั่นก็คือเรื่องของคุณภาพการแสดงผลของหน้าจอที่อาจจะไม่ได้เหมือนกันเสมอไป หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนก็เหมือนกับสเปคเครื่องที่มีความหลากหลาย มีความแรง มีจุ ที่ต่างกัน ซึ่งในเรื่องของหน้าจอเองก็มีหลากหลายสเปคเช่นเดียวกันครับ

ในบทความนี้เราจะยกตัวอย่างโน้ตบุ๊กเกมมิ่งรุ่นที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน (ณ วันที่เขียน 5 พฤษภาคม 2564) อย่างรุ่น ASUS TUF DASH F15 ที่เรียกได้ว่าจับตลาดนักเล่นเกม และผู้ใช้โน้ตบุ๊กในราคาที่พอจับต้องได้ คือราวสามหมื่นบาทต้น ๆ ไปจนถึงสี่หมื่นบาทกลาง ๆ แต่ตัวโมเดลที่เราจับมารีวิวนั้นจะเป็นตัวเริ่มต้น มีสเปคดังต่อไปนี้

ASUS TUF DASH F15 FX516PM-HN086T

  • CPU Intel Core i5-11300H
  • GPU GeForce RTX 3060
  • RAM 16 GB DDR4 3200 MHz
  • DISPLAY 15.6 inch (1920×1080) Full HD IPS 144Hz
  • STORAGE 512 GB SSD PCIe M.2
  • OS Windows 10 Home (64 Bit)

ถ้าหากเราพูดถึงความสามารถของหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) เราก็อาจจะนึกภาพออกว่า ยิ่งมันแรงมาก เราก็ยิ่งทำงานที่ต้องใช้การประมวลผลได้เร็วขึ้น แต่ถ้าพูดถึงความสามารถของหน้าจอล่ะ? ก็จะต้องหมายถึงความสามารถในการแสดงสีสันที่มากขึ้น ความสว่างของหน้าจอที่ช่วยทำให้เรามองเห็นรายละเอียด หรือลดการสะท้อนแสงได้ดีขึ้น เป็นต้น ในความเป็นจริงคือ สเปคของตัวเครื่องโดยทั่วไปนั้นมักจะถูกเขียนระบุอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในส่วนของหน้าจอนั้น น้อยมากที่เราจะทราบถึงความสามารถในการแสดงสีสันและรายละเอียดอื่น ๆ ของหน้าจออย่างละเอียด เพราะข้อมูลเหล่านี้จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทางในการทดสอบนั่นเอง

เครื่องมือที่เรากล่าวถึงนั้นก็คือ Colorimeter หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดแสงและสีของหน้าจอ โดยตัวที่เราเลือกใช้ในการทดสอบนั้นจะเป็นของ DataColor SpyderX ซึ่งจะต้องใช้ควบคู่กับซอฟต์แวร์ในการเปิดตัวอย่างของสีต่าง ๆ ขึ้นมา และใช้เซ็นเซอร์ตัวนี้แปะไปที่หน้าจอเพื่อประมวลเป็นข้อมูลมาให้เราเห็น

รูปนี้เป็นเพียงตัวอย่างในการแสดงสีของทั้งสามสีเท่านั้น

จากการทดสอบขั้นต้นเพื่อหาความสามารถในการแสดงสีของแม่สีหลักอย่าง สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน บนหน้าจอของ ASUS TUF DASH F15 ทำให้เราเห็นว่า ตัวจอนี้สามารถแสดงสีมาตรฐาน (Standard RGB หรือ sRGB) ที่เป็นเหมือนเกณฑ์ค่าสีเริ่มต้นที่หน้าจอควรแสดงได้ ผลออกมาได้เพียง 66% เท่านั้น (เราทำการทดสอบ 3 รอบ เพื่อความแน่ใจ) ถามว่าส่วนต่าง 34% ที่จอแสดงไม่ได้ถือว่าเยอะมั้ย? ก็ต้องตอบว่าเยอะมาก ถ้าอยากรู้ว่าเป็นยังไงให้ลองเอารูปไปปรับลดสี Saturation ลงสัก 30% ดู

ผลจากการวัดความสามารถในการแสดงสีนี้ หากเราวิเคราะห์จากรูปสามเหลี่ยมในภาพ พื้นที่ของสีภายในกรอบเส้นสีแดงคือสีสันทั้งหมดที่ตัวจอนี้สามารถแสดงได้ ส่วนสีเขียวคือพื้นที่ส่วนที่เหลือของ sRGB ทั้งหมดที่ตัวจอควรจะแสดงได้ นั่นหมายความว่าตัวจอนี้จะไม่สามารถแสดงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ที่เข้มหรือจัดไปกว่านี้ได้อีกแล้ว หรือถ้าจะให้อธิบายเป็นความรู้สึกเวลาที่มองหน้าจอ เราก็จะสามารถรับรู้ได้ว่าตัวจอนี้ค่อนข้างขาดสีสันที่ดูสมจริง หรือหน้าจอดูสีซีดกว่าที่ควรจะแสดงได้จริง

หลังจากนั้นจะเป็นส่วนของการวัดความเข้มข้นของแสง ระดับความดำสนิทของสีดำ และอุณหภูมิสี ซึ่งจอตัวนี้ให้ความสว่างสูงสุด (Peak Brightness) อยู่ที่ 262 นิตส์ (262 cd/m2) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์กลาง ๆ ไม่ได้แย่ จอไม่ได้ดูมืดมากเมื่อต้องเจอภาวะแสงที่หลากหลาย แต่ก็ยังไม่ได้ดีพอที่จะสามารถรับมือกับการใช้งานที่ต้องเจอภาวะแสงที่เข้มข้นมากเช่น แสงกลางวัน หรือห้องที่มีการเปิดไฟหลายดวงนัก ส่วนค่า Black เป็นตัวบ่งบอกถึงหน้าจอที่แสดงระดับของสีดำโดยที่มีแสงเล็ดลอดออกมาได้น้อยเมื่อเปิดรูปภาพที่เป็นสีดำสนิท โดยทั้งสองค่านี้ (ความสว่าง และความดำ) แปรผลออกมาเป็นค่าความต่างของสี หรือคอนทราสต์ (Contrast) ที่ค่าตัวเลขสำหรับพาเนล IPS โดยพื้นฐานจะอยู่ที่ 1000:1 (Static) แต่จากการแปรผลผลแล้ว ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี (อาจเพราะความสว่างของหน้าจอไม่สูงมากนัก) และสุดท้ายคือ White Point หรืออุณหภูมิสีของหน้าจอเมื่อวัดจากสีขาว อยู่ที่ 7700K ที่จะออกไปทางอมฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของหน้าจอทั่วไป

นอกจากเราจะสามารถหาค่าต่าง ๆ ของหน้าจอเหล่านี้ได้แล้ว Colorimeter ยังสามารถปรับจูนสีของหน้าจอให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากลได้อีกด้วย โดยวิธีการนี้เราจะเรียกว่า Software Calibrate ซึ่งหลักการทำงานคือ เราจะใช้เซ็นเซอร์ในการวัดแสงสีบนหน้าจอ จากนั้นซอฟต์แวร์จะเปิดสีตัวอย่างที่เป็น Reference เพื่อตรวจวัดว่า หน้าจอที่แสดงได้กับสีตัวอย่างนั้น มีความแตกต่างกันในระดับใด จากนั้นก็จะปรับจูนเพื่อให้หน้าจอแสดงสีได้ถูกต้อง หรือใกล้เคียงมาตรฐานมากที่สุด (เท่าที่หน้าจอจะแสดงได้) โดยจะสร้างโปรไฟล์สี ICC / ICM ที่ใช้ในการควบคุม หรือเป็นคำสั่งที่บอกให้การ์ดแปลงสัญญาณส่งไปที่หน้าจอแสดงให้แสดงสีสันตามที่กำหนดไว้

สิ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิดมาโดยตลอดก็คือ ลำพังแค่เราทำการคาลิเบรตปรับจูนสี ก็จะทำให้หน้าจอแสดงผลได้ถูกต้องแล้วไม่ใช่หรือ คำตอบคือ ถูกต้อง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะหัวใจสำคัญของหน้าจอคือความสามารถในการแสดงสีสัน แม้หน้าจอที่เราทดสอบตัวนี้จะแสดงพื้นที่สีได้น้อยก็จริง และมีการปรับจูนสีให้แสดงสีได้ถูกต้องมากขึ้นแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะแสดงสีได้เยอะไปกว่าเดิม แต่มันเป็นการทำให้พื้นที่สีที่อยู่ในกรอบนั้นแสดงได้ถูกต้องมากขึ้นเท่านั้นเอง หากเราดูรูปภาพสักรูปนึงที่มีส่วนผสมของสีที่อ่อนและเข้มสลับกัน จอที่แสดงสีได้น้อยก็ยังจะแสดงสีนั้น ๆ ได้อยู่ หากแต่เพียงสีที่ตัวจอไม่สามารถแสดงได้ หรือสีที่จัดเกินกว่าที่มันสามารถแสดงได้ มันก็จะพยามดึงสีที่ใกล้เคียงมาแสดงแทน เป็นผลทำให้บางคนอาจรู้สึกได้ว่า สีม่วงและสีน้ำเงินมี หรือมีส้มและสีแดง มีความใกล้เคียงกันจนแทบแยกไม่ออก

แล้วการคาลิเบรตบนหน้าจอที่แสดงสีได้น้อยแบบนี้มันช่วยได้จริงหรือ คำตอบคือช่วยได้อย่างแน่นอนครับ อย่างน้อยพื้นที่สีที่ตัวจอยังแสดงได้อยู่ ก็ยังเป็นสีที่ปรากฎบนผิวมนุษย์ หรือสิ่งของทั่วไปอยู่บ้าง ทีนี้เรามาลองดูผลทดสอบด้านล่างนี้ ที่เรียกว่า Verification หรือการตรวจเช็คความต่างของสีสันของหน้าจอ ซึ่งค่าที่ใช้แทนในการเปรียบเทียบระหว่างสีที่วัดได้กับสีของตัวอย่างนั้น เราจะเรียกว่า เดลต้า-อี (Delta E ΔE) โดยแทนเป็นตัวเลขเพื่อบ่งบอกว่า สีที่วัดได้นั้นมีความต่างจากสีของตัวอย่าง (Reference) มากน้อยเพียงใด ซึ่งสายตาของมนุษย์นั้นจะเห็นความต่างของสีได้ที่ระดับ 2 ขึ้นไป หากต่ำกว่านั้นอาจจะเห็นความต่างได้ยากขึ้น หรือสูงกว่านี้ก็จะยิ่งเห็นความต่างของสีได้ชัดเจน

This image has an empty alt attribute; its file name is 1620324369327.jpg
Extended Verification Charts – DisplayCAL

จากผลทดสอบด้านบนนี้เราจะเห็นว่า ค่าความต่างของสีโดยรวมเมื่อนำมาเฉลี่ยแล้ว จะอยู่ที่ระดับ 1.34 (Average) และสูงสุด 4.19 (Maximum) โดยในรายงานก็จะฟ้องด้วยว่าเป็นสีไหนที่ควรต้องระวัง แต่ถ้าเราสังเกตุจากชาร์ตนี้ที่ทดสอบมาทั้งหมดนั้นเราจะแทบเห็นความต่างระหว่างสองสีเกือบทั้งหมด ยกเว้นสีที่ไม่ได้มีความเข้มนัก ทั้งนี้ผลทดสอบนี้เราทำออกมาจากโปรไฟล์สีที่คาลิเบรตเรียบร้อยแล้วนะครับ (ไม่ใช่ค่าสีเดิม ๆ)

ทีนี้เรามาลองดูภาพรวมของสีสันหน้าจอและโทนสีที่แตกต่างกันดูบ้าง โดยแจ้งก่อนว่าระหว่างการถ่ายภาพตัวอย่างหน้าจอนี้เราได้ล็อค Speed Shutter, ISO, White Balance ไว้ที่ค่าเดียวกันหมดตั้งแต่ต้นจนจบ จึงทำให้แสงสีที่คุณเห็น จะคงที่ และไม่ผิดเพี้ยนไปกว่ากัน (แต่รูปถ่ายจากกล้องก็จะไม่เหมือนกับที่ตาเห็นจริงนะครับ)

จากรูปตัวอย่างด้านบนที่เราถ่ายมาให้ดูนั้น หลายท่านก็อาจจะพอมองว่ามันก็ยังสวยดี ถึงสีไม่ได้จัดจ้านมากแต่ไม่ได้แย่เท่าไหร่นัก ทั้งที่ในความเป็นจริงรูปที่เรานำมาแสดงให้ดูนั้น ต้นฉบับจะมีสีสันที่ค่อนข้างฉูดฉาดมาก เพียงแต่หน้าจอมันแสดงสีได้ไม่ถึง มันจึงพยามแสดงสีที่ใกล้เคียงที่สุดออกมา ทำให้เมื่อเรานำไปเทียบกับจออื่น ๆ ก็จะรู้สึกได้ว่าจอตัวนี้สีมันจืดกว่ามาก (ถ้าไม่นำไปเทียบอาจจะพอรู้สึกบ้าง แต่ยังไม่ได้ถึงกับน่าเกลียดนัก)

มาถึงคำถามสำคัญว่า แล้วเราจะทำอย่างไรกับหน้าจอที่แสดงสีสันได้แบบนี้ คำตอบคือ “การอัปเกรดหน้าจอ” หรือ “การเปลี่ยนจอใหม่ที่ดีกว่า” ครับ เพราะมาถึงตรงนี้แล้ว นอกจากการคาลิเบรตหน้าจอนั้นจะไม่ช่วยอยู่แล้ว ทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้คือ คุณก็ต้องไปหาซื้อจอแยกมาเสียบใช้งานแทน ทีนี้ก็ต้องกลับมาตอบคำถามตัวเองอีกทีว่า แล้วเราจะซื้อโน้ตบุ๊กไปเพื่ออะไร ในเมื่อต้องมาคอยพึ่งพาการเสียบจอแยกตลอดเวลา? การอัปเกรดหน้าจอจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทาง RIPS COMP เราได้เตรียมไว้ให้แล้วครับ

คลิกเพื่ออ่านต่อ (ขั้นตอนการเปลี่ยนจอ และผลทดสอบหน้าจอใหม่)