ไขข้อสงสัย | Factory Calibration คืออะไร และเชื่อถือได้หรือไม่?

เกริ่นกันก่อนสำหรับหลายท่านที่ไม่ทราบว่า Factory Calibration คืออะไร

Factory Calibration คือกระบวนการปรับเทียบสีหรือปรับจูนหน้าจอมาจากผู้ผลิตตั้งแต่ต้น โดยไม่ว่าจะใช้อิงจากมาตรฐานของผู้ผลิตเองหรือมีการนำมาตรฐานจากที่อื่นเข้ามาใช้ในการอ้างอิงเพื่อให้ได้การรับรอง สร้างความน่าเชื่อถือ และออกใบผลทดสอบของหน้าจอรุ่นนั้น ๆ เอาไว้เป็นตัวรับรองให้กับผู้ใช้ได้เห็นว่า หน้าจอตัวนี้มีการปรับจูนตามมาตรฐานเบื้องต้นแล้วโดยมีผลทดสอบต่าง ๆ ไว้ให้ดูประกอบเบื้องต้น

ในกระบวนการปรับเทียบสีหรือการทำ calibrate นั้น อย่างที่หลายคนรู้กันอยู่แล้วว่า มีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนและต้องใช้เวลานานในการปรับจูนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดกับจอนั้น ๆ คำถามคือ Factory Calibration นั้นเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน? หากเราดูผลทดสอบตามใบรับรองในกระดาษที่มีแนบมาให้นั้น เราก็อาจจะรู้สึกว่ามันพอน่าเชื่อถือได้ด้วยค่าและตัวเลขต่าง ๆ รวมถึงคำอธิบายที่ระบุไว้ “อย่างเป็นกลาง” หรืออยู่แค่ในเกณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานแล้วเท่านั้น

แน่นอนว่า กระบวนการทำ calibrate นั้นใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน หากทางผู้ผลิตตั้งใจที่จะปรับจูนหน้าจอแบบเป็นรายตัว อาจต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมาก มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ทางผู้ผลิตจะสั่งผลิตจอมาจำนวนหนึ่งหมื่นตัวแล้วทำการปรับจูนสีอย่างละเอียดทีละจอ โดยเฉพาะในกลุ่ม mass-market ที่ราคาขายเองก็ไม่ได้สูงมากนัก

หน้าจอทุกตัวมีการทำ Factory Calibration อยู่แล้ว แต่ระดับของการทำ Factory Calibration อาจมีหลายระดับแยกออกไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตตั้งใจวางตลาดของจอรุ่นนั้น ๆ ไว้ที่กลุ่มลูกค้ากลุ่มใด เช่น กลุ่มเกมเมอร์ที่ผู้ผลิตก็จำเป็นจะต้องทำโหมดปรับเทียบสีและโหมดต่าง ๆ สำหรับคนเล่นเกม กลุ่มผู้ใช้ทั่วไปที่ต้องการโหมดถนอมสายตา หรือกลุ่มมืออาชีพที่จำเป็นต้องใช้ความแม่นยำของสีก็จะมีการปรับเทียบให้ได้สีสันแม่นยำที่สุด (หากหน้าจอตัวนั้นไม่มีการทำ Factory Calibration แม้แต่น้อย เราก็อาจจะได้แผงจอเปล่า ๆ ที่ผลิตออกมา แล้วแทบจะปรับโหมดหน้าจออะไรไม่ได้เลยนั่นเอง)

Factory Calibration อาจมีกระบวนการทดสอบและปรับเทียบสีด้วยวิธีที่แตกต่างกัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการนำจอตัวหนึ่งขึ้นมาเป็นตัวตั้งต้นในการทดสอบหรือทำการปรับจูนแบบเบื้องต้น แล้วกระจายโปรไฟล์หรือเซ็ตติ้งให้เอาไว้ใช้ครอบคลุมกับแผงจอตัวอื่น ๆ ซึ่งผลลัพธ์ของมันอาจจะยังไม่ได้อยู่ในจุดที่เรียกว่าดีมากนัก เพราะด้วยปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่กระบวนการควบคุมการผลิตที่อาจทำให้แผงจอแสดงสีได้ไม่เหมือนกันเลยในแต่ละจอ การใช้เซ็ตติ้งที่ทำมาโดยเฉพาะและใช้ควบคุมแผงจอทั้งล็อตหรือทั้งหมดนั้นก็ยังถือว่าอยู่ในจุดที่แค่ “พอรับได้” ในมุมของผู้ใช้ทั่วไปที่อยากแกะกล่องเปิดออกมาแล้วพร้อมใช้งานทันที

เพราะอย่างน้อยหน้าจอที่มีเครื่องยืนยันว่า มีการทำ Factory Calibration เหล่านี้ที่มักเจาะกลุ่มผู้ใช้ระดับมืออาชีพ มันก็ยังอยู่ในจุดที่ดีกว่าหน้าจอที่ไม่มีการปรับจูนอะไรเลยมาตั้งแต่แรก (และมันก็ยังไม่สามารถทัดเทียมได้กับการทำ Custom Calibration ในภายหลัง ที่ผู้ใช้กลุ่มนี้ควรตะหนักถึงความสำคัญของมันด้วย

และย้ำทิ้งท้ายเพิ่มเติมว่า กระบวนการควบคุมการผลิตของแผงจอหรือ Quality Control ของแผงจอนั้น สำคัญกว่ากระบวนการ Factory Calibration อย่างแน่นอน หากแผงจอนั้นมีการควบคุมการผลิตอย่างดีเยี่ยม แผงจอที่คุณภาพสูงออกมาจากตั้งแต่โรงงานนั้น แทบจะไม่จำเป็นที่จะต้องทำการ calibrate ในช่วงแรก ๆ (หรือสักระยะ) ของการใช้งานเลย