
ในปัจจุบันถ้าเป็นในฝั่งของจอมอนิเตอร์ หรือจอคอมพ์ตั้งโต๊ะนั้น ส่วนใหญ่แล้วหน้าจอจะแสดงสีได้ครอบคลุม sRGB ทั้งหมดแล้ว เรียกได้ว่ามาตรฐาน sRGB นั้นเป็นขอบเขตสีมาตรฐาน “ขั้นต่ำ” ที่หน้าจอควรจะต้องแสดงได้ แต่พอเป็นในฝั่งของจอโน้ตบุ๊กนั้น กลับเป็นอีกเรื่องไปเลย เพราะเราจะเห็นได้ว่า จอของโน้ตบุ๊กเกินกว่าครึ่งที่มีขายอยู่ในตลาดนั้น เป็นหน้าจอที่ยังไม่สามารถแสดงสีได้ครอบคลุมถึง sRGB เลยด้วยซ้ำ (หรือที่เรียกกันว่าจอ 62% sRGB นั่นเอง )
แม้มาตรฐานการแสดงสีในปัจจุบันเราจะใช้เพียงแค่ sRGB เท่านั้น ไม่ว่าจะใช้แค่เล่นเว็บ หรือทำภาพนิ่งอัปโหลดลงโซเชียลก็ตาม ในปัจจุบันนั้นมีหน้าจอหลายตัวในตลาดที่มีความสามารถในการแสดงเฉดสีมากกว่า sRGB ขึ้นไปแล้ว เช่น หน้าจอที่รองรับขอบเขตสีแบบ P3 ที่ต้องเรียกว่าเป็น sRGB เวอร์ชั่นอัปเกรดการแสดงเฉดสีได้กว้างขึ้นไปอีกระดับนึง ทำให้เราสามารถมองเห็นสีสันที่สดใส จัดจ้าน และดูสมจริงขึ้นมาก ยิ่งใช้สำหรับการเสพคอนเทนต์ด้วยแล้ว จะยิ่งช่วยเพิ่มอรรถรสมากยิ่งขึ้น และเมื่อนำมาเทียบกันแล้วระหว่างจอ sRGB กับ P3 นั้น ตัวหน้าจอของ sRGB จะดูซีดไปเลย
อย่างที่เราอธิบายไปข้างต้นแล้วว่า มาตรฐานของอินเตอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดียร์นั้นจะเป็นเพียงแค่ sRGB ทุกอย่างที่ถูกอัปโหลดลงไปนั้นก็จะแสดงผลได้แค่แบบ sRGB เท่านั้น แล้วคำถามคือ จะมีประโยชน์อะไรถ้าหากเราใช้หน้าจอที่เป็นขอบเขตสีกว้างกว่า sRGB แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครมองเห็นสีสันที่จัดจ้านได้แบบที่จอเรามองเห็นอยู่?
ถ้าหากเป็นในแง่ของคนที่ต้องทำงานด้านภาพและสีแล้วนั้น เราจำเป็นจะต้องให้หน้าจอแสดงสีได้กว้างมาก ๆ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ไว้ก่อน เพื่อให้มั่นใจว่า ภาพที่เราเห็นบนหน้าจอนั้น จะแสดงสีสันได้ครบถ้วนอย่างแท้จริง แม้เราจะทำงานให้ไปแสดงผลเพียงแค่ sRGB เท่านั้น หากดูจากรูปตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่าปริภูมิสีที่นำมาแสดงนั้น จะมีสองส่วนด้วยกันคือ ส่วนที่เป็นพื้นที่สีทั้งหมดที่หน้าจอสามารถแสดงได้ และส่วนที่อยู่ด้านในนั้นก็คือพื้นที่ของขอบเขตสี sRGB จริง ๆ นั่นหมายความว่า พื้นที่สีโดยรวมทั้งหมดของหน้าจอตัวนี้จะสามารถแสดงสี sRGB ได้ครอบคลุมโดยรวมทั้งหมด

แต่ทั้งนี้! เวลาที่เราเห็นสเปคของหน้าจอสักตัวนึงที่บอกว่า เป็นจอ 100% sRGB นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า หน้าจอตัวนั้น ๆ จะสามารถแสดงสีได้ครอบคลุมพื้นที่ขอบเขตสีของ sRGB แต่อย่างใด ในรูปปริภูมิสีที่เรานำมาแสดงนั้น มันสามารถแสดงผลได้แบบ 3D ซึ่งมันไม่ใช่แค่เป็นรูปทรงที่เราเห็นตอนนี้เท่านั้น แต่มันยังมีพื้นที่ที่เป็นรูปทรงแบบก้อนในส่วนของพื้นที่ที่เป็นเงาในด้านใต้นี้อีก สมมุติว่า จอยี่ห้อนึงบอกว่า เป็นจอ 100% sRGB อยู่แล้ว แต่ความสามารถในการแสดงสีให้ครอบคลุมจริงๆ อาจจะทำได้แค่ 92% sRGB เท่านั้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพการแสดงสีของจอแต่ละตัวด้วย ค่า 100% sRGB จึงไม่ใช่ค่าที่การันตีว่าหน้าจอตัวนั้นจะแสดงสีได้ครบถ้วนแต่อย่างใด เป็นเพียงตัวเลขที่บ่งบอกถึงพื้นที่ของสีโดยรวมทั้งหมดที่ตัวจอทำได้ (และจริงแท้แค่ไหน ยังไงก็ต้องทำการทดสอบด้วยเครื่องมืออยู่ดี)
Laptop & Display Calibration / Writer / Owner และทำทุกสิ่งอย่างในนาม RIPS COMP